Acting กับความจริงของเรา (?)

 

เมื่อพูดถึง “Acting” หลายคน (โดยเฉพาะนักเรียนการละคร) มักนึกถึงรูปแบบละครแนวสมจริง (Realistic Theatre) เทคนิคการแสดง เช่น the method ของ Stanislavski บทละครของ Anton Chekov หรือ Henrik Ibsen การแสดงของนักแสดงทั้งในละครเวที ทีวี ภาพยนตร์ หรือสื่อต่าง ๆ ที่มุ่งนำเสนอตัวละคร เรื่องราว บนฐานความจริงของมนุษย์และสังคม การแสดงที่ทำให้เรา (ผู้ชม) เชื่อได้ว่าเป็นจริงเช่นนั้น จึงไม่แปลกที่ Acting มักจะถูกนิยามว่าเป็นเรื่องของการสร้าง “ความจริง” ให้ปรากฏขึ้น 

ในปัจจุบัน ความจริงในละครเวทีและใน Acting ภายใต้มุมมองแบบตะวันตกก็เปลี่ยนแปลงไปมากเช่นกัน อิทธิพลจากการเติบโตของละครแนว Anti-realism และแนวคิด Postmodern ที่เชื่อว่า ไม่มีความจริงหนึ่งเดียว และความจริงนั้นไม่สำคัญเท่ากับ “การรับรู้ถึงความจริง” ในเชิงปรากฏการณ์ มุ่งสู่การให้ความสำคัญกับการรับรู้ถึงความจริง มากกว่าอะไรคือความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความจริงจากประสบการณ์ส่วนบุคคล
— Balme and Nicol
 

ทฤษฎี Performance ได้เปิดมุมมองต่อการศึกษา Acting ภายใต้รูปแบบพฤติกรรมของมนุษย์ที่แสดงออกในการอยู่ (Being) การกระทำ (Doing) และการสื่อสาร (Showing-Doing) เกิดการขยายมิติเชิงความคิดและค้นหาวิธีปฏิบัติของ Acting ที่ขึ้นตรงต่อปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมที่หลากหลาย เลื่อนไหลไปตามบริบท อาทิ Theatre Anthropology ของ Eugenio Barba เป็นต้น

อย่างไรก็ดี พฤติกรรมของมนุษย์ในสถานการณ์ที่เรียกได้ว่าเป็น “การแสดง” หรือ Acting นั้น ย่อมแตกต่างจากการใช้ชีวิตหรือการแสดงออกในชีวิตประจำวันอยู่ดี และในต้นศตวรรษที่ 21 นิยามและความหมายของ Acting ก็ได้ถูกขยับขยายให้ออกห่างจากหรือขึ้นตรงต่อละครรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง และกลายเป็น

ศิลปะการแสดงออกของละครเวที ที่มีทักษะของการใช้เสียงและร่างกายของนักแสดงเป็นสำคัญ มีเจตนาในการแสดงออก (Intentional) และมีความเป็นการแสดง (Theatrical)แทน
— Allain and Harvie
ภาพการแสดงจากละครเวทีเรื่อง โฮมเฮือนเฮา (2563) จากโครงการวิจัยเฮ็ดเหล่นเป็นอีสาน (ที่มา: ธนัชพร กิตติก้อง)

ภาพการแสดงจากละครเวทีเรื่อง โฮมเฮือนเฮา (2563) จากโครงการวิจัยเฮ็ดเหล่นเป็นอีสาน (ที่มา: ธนัชพร กิตติก้อง)

 

Andy Lavender ได้กล่าวถึงแนวทางของ “ละครและการแสดง” ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในศตวรรษที่ 21 โดยอธิบายว่า การแสดงในอดีตเริ่มต้นด้วยการตระเตรียมเวที (mise en scène) ต่อมาเป็นการตระเตรียมสถานการณ์ (mise en événtment) และในปัจจุบัน “ละครและการแสดง” กำลังขับเคลื่อนไปสู่การตระเตรียมความรู้สึก (mise en sensibilité) และการจัดการทางความรู้สึก

การสร้างประสบการณ์จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนศิลปะการแสดงในยุคสมัยนี้

ภาพการแสดงและนิทรรศการภาพเคลื่อนไหว ปี้น (i-San Persona) จากโครงการวิจัยเฮ็ดเหล่นเป็นอีสาน (ที่มา: ธนัชพร กิตติก้อง)

ภาพการแสดงและนิทรรศการภาพเคลื่อนไหว ปี้น (i-San Persona) จากโครงการวิจัยเฮ็ดเหล่นเป็นอีสาน (ที่มา: ธนัชพร กิตติก้อง)

 

ศิลปะการละครในยุคสมัยที่ตั้งอยู่บนการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและผันผวน ความจริงย่อมหลากหลายและผันผวนไปตามกัน Acting (หรืออาจจะสะดวกเรียกว่า Performing ก็ได้ในตอนนี้) จึงต้องนำเสนอและสร้างการรับรู้ร่วมกันกับผู้ชม ภายใต้การมีส่วนร่วม (Engagement) การสวมบทบาทเป็นตัวละครจึงต้องค่อย ๆ ถูกลอก ถอด และเผยให้เห็นตัวตนที่แท้จริงของนักแสดงในฐานะมนุษย์ ปัจเจกชน นำพาผู้ชมไปเสพความจริงในอีกมิติหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นมิติของเขาหรือมิติของเธอ ให้ร่วมรับรู้ด้วยกันไป ถึงบางครั้ง ดูแล้วอาจจะไม่ใช่สำหรับเรา (ผู้ชม) เลยก็เป็นได้! 

แน่นอนว่า นักแสดงยังคงต้องทำหน้าที่สร้างความจริงอยู่ แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือ นักแสดงต้องอยู่ในฐานะผู้สร้างปรากฏการณ์ให้ปรากฏขึ้น “เป็นจริง” ต่อการรับรู้ของผู้ชม โดยความเป็นจริงนั้นต้องไม่ใช่ความจริงในฐานะตัวละคร หรือวาทกรรมทางสังคม แต่เป็นจริงในฐานะมนุษย์ที่หลากหลาย ที่ซับซ้อน ที่เฉพาะเจาะจง ในแบบที่ประจักษ์ได้ภายในใจของผู้ชม เชื่อมต่อได้กับประสบการณ์ของผู้ชม และปะทะกับความรู้สึกเชิงสุนทรียะของผู้ชมได้ 

ภาพจากการแสดงละครในรูปแบบ Immersive Theatre เรื่อง LOOP ณ ประพนธ์บาร์ จ.ขอนแก่น (มกราคม 2021)  (ที่มา: ชัญญาณินท์ ชัชวาลย์)

ภาพจากการแสดงละครในรูปแบบ Immersive Theatre เรื่อง LOOP ณ ประพนธ์บาร์ จ.ขอนแก่น (มกราคม 2021) 

(ที่มา: ชัญญาณินท์ ชัชวาลย์)

 

เพราะฉะนั้น Acting ในยุคสมัยนี้ จึงไม่ได้มุ่งนำเสนอความจริงของบทละครเป็นหลักเหมือนก่อน แต่จะลดทอนความจริงของตัวละครในมุมมองของผู้ประพันธ์บทลง หรือไม่มีเลย ให้ความสำคัญกับผู้แสดง ทักษะการแสดง วิธีการและปฏิบัติการทางการแสดง 

เพื่อสร้างปรากฏการณ์ที่นักแสดงและผู้ชมได้อยู่ร่วมกัน เติมและเชื่อมต่อความจริงระหว่างนักแสดงและผู้ชม ผ่านเครื่องมือสำคัญเดิมได้แก่ หัวใจของนักแสดงและความเป็นมนุษย์

เมื่อมอง Acting วันนี้ เราจึงควรศึกษา พื้นฐานของมนุษย์จากวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป อิทธิพลจากสังคมและการเมืองที่เกิดขึ้นต่อมนุษย์ ลงลึกถึงความเป็นตัวตน ความคิด ความรู้สึก และสะท้อนออกมาเป็นการแสดง ผ่านเรื่องราวหรือโจทย์ทางศิลปะ เช่นเดียวกันกับ พัฒนาการของ Acting ที่ไม่ควรยึดติดกับวิธีการหรือรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่เป็นการแตกแขนงและต่อยอดในกระบวนการคิดและการปฏิบัติที่สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ มุ่งให้เกิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่สามารถวิพากษ์และสะท้อนตัวเอง วิธีการ ให้สามารถปรับและเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความผันผวนของยุคสมัยได้

ภาพ การฝึกซ้อมการแสดงในละครกระบวนการ เรื่อง สุดสะแนน-สาวะถี (ที่มา: พชญ อัคพราหมณ์)

ภาพ การฝึกซ้อมการแสดงในละครกระบวนการ เรื่อง สุดสะแนน-สาวะถี (ที่มา: พชญ อัคพราหมณ์)

ถึงตรงนี้แล้ว Acting คงไม่ไกลจากตัวเราเท่าไหร่ เมื่อหันไปมองดูสิ่งที่เรามีและเป็น ลิเก หมอลำ หรือแม้แต่ พี่ ๆ แก๊งสามช่า ไปจนถึง เน็ตไอดอล และ ดารา TikTok คงอีกไม่นานที่การนำเสนอตัวตนที่ผสานเข้าไปกับการแสดงอย่างกลมกล่อมได้นั้น จะถูกยกขึ้นให้เป็นแนวทางที่สำคัญของ Acting ต่อไป ทีนี้...การจะพัฒนา เสริมสร้าง ค้นหา สร้างสรรค์ กลวิธีการแสดง Acting แบบไทย แบบอีสาน แบบเหนือ แบบใต้ หรือแบบของใครก็ได้ ก็คงจะสนุกสนานและเฟื่องฟูกันไป

 
 

อ้างอิง

Allain, Paul and Jen Harvie. (2006). The Routledge Companion to Theatre and Performance. London: Routledge. 

Balme, Christopher. (2008). The Cambridge Introduction to Theatre Studies. Cambridge: Cambridge University Press.

Eugenio, Barba. (2005). A Dictionary of Theatre Anthropology 2nd edition: The Secret art of the performer. London: Routledge.

Kogan, Sam. (2010). The Science of Acting. New York: Routledge.

Lavender, Andy. (2016). Performance in the Twenty-First Century: 

Theatres of Engagement. London: Routledge.

Nicol, Bran. (2009). The Cambridge Introduction to Postmodern Fiction. Cambridge: Cambridge University Press.

Schechner, Richard. (2006). Performance Studies: An introduction. New York: Routledge.

 
headshot.jpg

ผู้เขียน : ธนัชพร กิตติก้อง 

อาจารย์ด้านศิลปะการละครและการแสดงจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นและเป็นคนขอนแก่นด้วย