The Artitude series Part 2: เวลาที่ศิลปินเดือดร้อนหน่วยงานภาครัฐด้านศิลปะมีหน้าที่ทำอะไร

ภาพ2.png

ทำไมเวลานี้ถึงเป็นเวลาที่ดีที่สุดที่ศิลปินควรลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับหน่วยงานรัฐด้านศิลปะ

บทความนี้จะชวนผู้อ่านทุกท่านมาตั้งคำถามถึงหน้าที่ของรัฐในการช่วยศิลปินในสถานการณ์เดือดร้อน

และบทบาทของศิลปินที่สามารถทวงถามถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการสร้างงานศิลปะที่ควรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ

1.ในช่วงเวลานี้เราไม่ควรลืมว่ารัฐมีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องศิลปวัฒนธรรม เช่น กระทรวงวัฒนธรรม รวมถึงหน่วยงานย่อยอื่น ๆ ที่รับเงินจากรัฐไปทำงานต่อ 

2.เช็คง่าย ๆ ถ้าอยากรู้ว่ารัฐทำงานดีอยู่มั้ย ให้ไปไล่ถามศิลปินแต่ละแขนงดูว่า "รู้ไหมว่าหน่วยงานใดของรัฐที่เขามีหน้าที่สนับสนุนงานที่คุณทำ ?" 

3.ถ้าประชาชนตอบไม่ได้ว่าหน่วยงานไหนช่วยเหลือคุณอยู่ รัฐควรพิจารณาตัวเอง แต่ถ้าบอกว่า "รู้" แต่ไม่เคยรู้สึกว่าเขาช่วยเหลืออะไรเลย "รัฐควรลาออก"

4.ช่วง Covid นี้ อย่าบอกว่ากระทรวงด้านศิลปะไม่มีเงิน อย่าสับสนและเห็นใจรัฐบาล และคิดว่าเขาแบ่งเงินที่ดูแลเราไปช่วยสาธารณสุขหมดแล้ว

5.เพราะความจริงเงินถูกแบ่งการใช้เป็นกระทรวงแยกกัน ตย. โควิดปีก่อนรัฐเอาเงินไปซื้ออาวุธสงคราม พอประชาชนถามว่าทำไมเอาเงินไปใช้อย่างงั้น รัฐบอกมันเป็นงบประจำปีที่ถูกกันไว้แต่แรกแล้ว 

6.ฉะนั้นสิ่งที่คนทำงานศิลปะต้องตั้งคำถามหนัก ๆ คือ ตลอดโควิดนี้พวกเราศิลปิน นักร้อง นักดนตรี นักแสดง ทุกแขนง กระทบหนัก กระทรวงที่ดูแลศิลปะในประเทศทำอะไร อยู่ที่ไหน ?

7.อย่ารู้สึกผิด นี่คืองานที่รัฐต้องทำเพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนแลกกับเงินภาษีของพวกเราที่จ่ายให้เขาปกติ แม้ชีวิตพวกเราจะวิกฤตแค่ไหน

8.ตั้งคำถามเรื่องการเยียวยาเป็นเรื่องที่ดี แต่ลองตั้งคำถามว่าถ้าไม่ใช่เงินเยียวยา รัฐมีไอเดีย (Creative Solution) มีวิชั่นอะไรอื่น ๆ ที่ผู้นำควรมีตอนนี้เป็นทางออกอื่นไหม ?

9.ไม่ต้องห่วง ถ้ารัฐบาลมี มันมีไปตั้งแต่มีนาคมปีก่อนแล้วครับ

10.แต่ถ้าจะตั้งคำถามเรื่องไอเดียพัฒนาวงการศิลปะในบ้านเรา จงตั้งไปให้ถึงก่อนโควิดด้วย เพราะก่อนหน้านั้นตอนปกติก็ไม่เห็นอะไรเป็นปกติอยู่แล้ว

11.แล้วถ้ามาทรงนี้ก็จงช่วยกันดูไปที่อนาคตเลยว่า กลุ่มคนที่ไม่เคยมีอดีตและปัจจุบัน แถมมาเกาะเรากิน คือคนที่เราควรมีอนาคตร่วมด้วยหรอ ? 

12.บางคนบอกว่าเลิกด่ารัฐแล้วดูแลตัวเอง ใช่ เรื่องโมเดลธุรกิจของตัวเองจริง ๆ ศิลปินควรหาให้เจอ ตั้งเป็น Goal เลยยิ่งดี

13.แต่ถ้ายังหาไม่เจอ ขอย้ำอีกที รัฐมีเงินภาษีที่จ่ายให้คนทำงานเพื่อช่วยเหลือพวกเรา การเรียกร้องให้เขาทำงานให้ดี เป็นสิทธิพื้นฐานที่ทำเถอะ 

14.สิ่งที่รัฐควรชัดเจนคือ ทำงานที่ด่วนและสำคัญ กับ งานที่ไม่ด่วนแต่สำคัญ / งานที่ด่วนและสำคัญ คือ รีบไปช่วยเหลือคนตัวเล็ก ศิลปินที่กำลังจะเรียนจบ หรือคนที่เดือดร้อนเงิน และหาตลาดตัวเองไม่เจอ

15.สิ่งที่รัฐช่วยคนตัวเล็กได้ คือ พวกโครงสร้างพื้นฐาน Cost ที่ลดภาระได้ เช่น สถานที่ทำงาน แสดงงาน สวัสดิการสังคม ประกันสังคม ภาษี เป็นต้น 

16.ระยะกลางก็โฟกัสที่งานที่เป็นรัฐเท่านั้นที่ทำได้ เช่น ถ้าเป็นเมืองก็คือพวกถนนหลักอะไรพวกนี้ คือประชาชนมันไปยุ่งไปทำไม่ได้ไง 

17.และงานไหนที่รัฐไม่ควรทำ ก็ปล่อยให้ประชาชนเขาได้ทำ ไม่ต้องกลัวว่าเขาจะบอกว่ารัฐไม่เก่งหรอก ผลักดันให้ทุกคนเก่งคือยอดรัฐ 

18.ถ้ารัฐใส่ใจในการสนับสนุนคนตัวเล็กให้สร้างตลาดให้ได้ เดี๋ญวมันก็ไปสู่การแข่งขัน การค้าเสรี เป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยรัฐสร้างเงินได้เอง

19.แต่จะทำอะไรต้องเฝ้าระวังการผูกขาดที่มีอยู่ในวงการอย่างแรกเลย 

20.แล้วความเศร้าคือรัฐนี่แหละตัวผูกขาดที่แท้จริง เพราะอำนาจและการผูกขาดมันทำให้พวกเขาปลอดภัยในอาชีพ

21.ความปลอดภัยของระบบราชการ การรู้ว่าปีหน้ายังมีงบประมานที่ใช้ได้ และ การหาทางใช้เงินนั้นกับคนที่คุ้นเคย เชื่อใจได้ และคุยกันง่ายสุด เพื่อลดขั้นตอนการทำงาน แต่ยังได้เงินที่มากสุดอยู่ 

22.การสนับสนุนศิลปินบางคนบางกลุ่มแบบผูกขาด มันคือการการันตีว่าจะได้งานที่มาตรฐาน ไม่ต้องไปเสี่ยงสร้างอะไรใหม่ ที่ไม่รู้จะสำเร็จไหม

23.หากเปรียบหน่วยงานรัฐคือ Start up ที่ฮิต ๆ ตอนนี้เรามี CEO ที่ไม่มีองค์ประกอบใด ๆ ที่จะนำพาความเจริญ และเติบโตให้กับองค์กรได้เลย

24.ผู้นำที่เก่งนะ ง่าย ๆ ต้องตอบคำถามพวกนี้ได้ ศิลปะแก้ปัญหาอะไรอยู่รู้ไหม ? / มีไอเดียหรือวิชั่นที่แตกต่างน่าสนใจไหม ? / ทั้งหมดถ้าทำแล้วมันขยายผลได้ไหม ?

25.การขยายผลง่าย ๆ เลย ตอบให้ได้ว่าคุณ (รัฐ) กำลังเลือกแก้ปัญหาให้คนไม่กี่คนอยู่ หรือ กำลังเลือกแก้ปัญหาที่คนส่วนมากเดือดร้อนอยู่ 

26.นี่ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องนโยบาย Soft Power อะไรที่รัฐประกาศนะ หรือพวกพลักดัน Creative Economy ที่พูดไปเรื่อยอยู่ 

27.เอาง่าย ๆ ไอเดียที่ดีใครก็คิดได้ท่าน แต่ Execution ว่าจะทำอะไรบ้างให้มันเกิด คือวัดว่ารัฐเพ้อเจ้อไปวัน ๆ หรือรู้จริง

28.อยากรู้ว่าเพ้อเจ้อไหม ก็ดูเลยว่าเรื่องนี้ก็พูดมานานแล้ว ตอนนี้วงการยังเหมือนเดิมไหมแค่นั้นแหละ 

29.ที่ผ่านมาสิ่งที่รัฐตั้งใจทำสุด คือ นโยบายตอนเลือกตั้ง แล้วมันน่าโกรธที่พอได้เป็นรัฐบาลแล้วส่วนใหญ่ที่พูดไว้ก็ทำไม่สำเร็จ 

30.หรือที่เศร้ากว่าคือ แม้แต่นโยบายที่หาเสียงไว้ก็ไม่ได้เรื่องเลย แต่ก็ยังได้เข้ามาทำงาน

31.บางคนก็บอกว่ารัฐทำงานนะ ผลงานเยอะแยะ โอเคถ้าทำจริง งั้นขอไปว่าทีม Communication ละกัน เข้าขั้นโคตรแย่ 

32.พื้นฐานเปรียบง่าย ๆ ถ้ารัฐเป็นบริษัท ทำงานอะไรก็ต้องมีรายงานประจำปี ประจำไตรมาส บางที่นี่รายวีค รายวันนะครับ 

33.การสื่อสารของรัฐ คือ การสร้างความสบายใจและความไว้ใจให้กับประชาชน จะมาบอกรัฐแอบทำ ๆ ทำดีทำไมต้องประกาศ เส้นบาง ๆ ระหว่างทำอะไรแล้วไม่บอก กับ ไม่บอกเพราะทำอะไรไม่ดีไว้ มันต่างกัน

34.รัฐควรตระหนักเสมอว่า เมื่อโดนเลือกมาทำงานแล้ว รัฐกับประชาชนไม่ใช่คู่แข่งกัน ประชาชนและศิลปินคือทีมเดียวกับคุณแล้ว 

35.เมื่อเป็นทีมเดียวกันคุณต้องขยาย Strategy (กลยุทธ์) และช่วยอธิบายว่าใน 3ปี  1ปี  6เดือน
3เดือน คุณจะทำอะไร ประชาชนที่อยู่ทีมเดียวกับคุณจะได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพไปด้วย

36.แต่ในความเป็นจริงคือรัฐไม่เคยมองว่าศิลปินหรือประชาชนคือทีมเดียวกับเขาหรอก

37.ไม่มีที่ทำงานดี ๆ ที่ไหนที่เขาปล่อยให้คนในที่ทำงานอยู่แบบไร้ความหวัง ไม่มีอนาคต และหัวหน้าก็รวยเอา ๆ เติบโตเอา ๆ กลุ่มเดียวแบบนี้

38.สุดท้ายย้ำอีกครั้ง ในขณะที่เราต้องเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาเรื่องสาธารณสุข และปากท้อง แต่อย่าลืมว่ามันมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่ก็ต้องดูแลในส่วนวิชาชีพที่ทุกคนทำอยู่ !

39.และพวกเขาก็ยังได้รับเงินเดือน เงินเดือนที่พวกเขาต้องช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้พวกเราที่ทำงานศิลปะอยู่ !

40.ระลึกกันเสมอว่าเราไม่ต้องรอให้หมดโควิดแล้วไปถามหาการทำงานจากรัฐ เราเรียกร้องตอนนี้ไปพร้อมกันได้ มองสถานการณ์ให้เห็นภาพรวม ทุกคนจะได้ลุยกับรัฐได้ตรงสายงาน ตรง Point ที่เราถนัดเรารู้  

ผมอยากให้เกิดวัฒนธรรมการรีวิวปัญหาแล้วช่วยกันเสนอทางออกนะ ทุกคนจะได้ไม่เจอว่ามัวแต่บ่นแต่ไม่เห็นทำอะไร (แต่เอาจริง ๆ บ่นก็คือทำอะไรแล้วนะ ดีกว่าไม่บ่นแล้วก็ไม่ทำไรเลย)

#TheArtitude

 

ผู้เขียน

กฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์ (หลุยส์)

Director of Blind Experience

สนใจเรื่องการสร้างสรรค์สังคมด้วยไอเดียศิลปะ 

เชื่อว่า Arts Society Business Sustainability คือสิ่งที่สามารถอยู่ร่วมกันได้