ความเสมอภาคคืออะไร

ภาพโดย Angus Maguire และ Interaction Institute for Social Change

 
 

หลายท่านอาจเคยเห็นรูปเปรียบเทียบด้านบน รูปนี้ช่วยอธิบายให้เห็นว่าความเสมอภาค (Equity) คือการสนับสนุนให้ท้ายที่สุดทุกคนอยู่ในระดับเสมอกัน มิใช่การสนับสนุนในปริมาณที่เท่ากัน


ตัวอย่างนโยบายที่ยึดหลักเสมอภาค เช่น การให้สิทธิผู้มีโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมน้อยเข้าเรียนในสถานศึกษาที่มีการแข่งขันสูง หากไม่ได้มองผ่านหลักเสมอภาคก็อาจรู้สึกไปได้ว่าผู้มีโอกาสน้อยที่ได้รับสิทธินั้นเป็นอภิสิทธิ์ชน ไม่ต้องแข่งขันหนักเท่าผู้อื่นก็สามารถเข้าเรียนได้ แต่หากพิจารณาผ่านแว่นของความเสมอภาคก็จะเข้าใจว่าบุคคลผู้นั้นมีเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคมที่เสียเปรียบ เช่น แทนที่จะมีเวลาทำการบ้าน อ่านหนังสือหลังเลิกเรียน กลับต้องรับจ้างทำงานเพื่อช่วยเหลือครอบครัวทุกวัน เงื่อนไขเหล่านี้ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม หากไม่ได้รับการสนับสนุนก็อาจไม่มีโอกาสได้เลื่อนขั้นทางเศรษฐกิจและสังคมเลย เมื่อมองจากมุมของความเสมอภาค การให้สิทธิผู้มีโอกาสน้อยจึงไม่ใช่การมอบอภิสิทธิ์ แต่เป็นการคืนความเป็นธรรมให้สุดท้ายทุกคนมีโอกาสงอกเงยเสมอกัน

อนึ่ง ท่านอาจเคยเห็นฝั่งซ้ายของรูปบรรยายด้วยคำว่าเท่าเทียม (Equality) ไทยเธียเตอร์ฟาวน์เดชั่นตั้งใจตัดคำว่าเท่าเทียมออกจากรูป เนื่องจากเห็นว่าเป็นการอธิบายความเท่าเทียมที่คลาดเคลื่อน ไทยเธียเตอร์ฟาวน์เดชั่นใช้รูปนี้ประกอบการอธิบายคำว่าเสมอภาค (Equity) เท่านั้น

ขอขอบคุณอาจารย์พลอยใจ ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำภาควิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่