ชั่วโมงทำงาน

 
 

กฎหมายแรงงานไทยคุ้มครองผู้มีสัญญาจ้างแรงงาน (ลูกจ้างประจำ) ในเรื่องชั่วโมงทำงาน มีสาระสำคัญดังนี้

  • ทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวันหรือตามแต่ตกลงกัน และไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

  • พักอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมงภายในทุก 5 ชั่วโมงหรือตามแต่ตกลงกัน

  • จ่ายค่าล่วงเวลาไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของอัตรารายชั่วโมง และไม่น้อยกว่า 3 เท่าในวันหยุด

ตามกฎหมายแล้ว ข้อกำหนดเรื่องชั่วโมงทำงานเหล่านี้ไม่คุ้มครองถึงผู้มีสัญญาจ้างทำของ (ฟรีแลนซ์) เนื่องจากเป็นสัญญาที่มุ่งเน้นผลสำเร็จของงานเป็นหลัก ผู้รับจ้างมีอิสระจากผู้ว่าจ้าง สามารถกำหนดชั่วโมงทำงานของตนเองได้

สัญญาโดยมากในอุตสาหกรรมละครเวทีไทยร่วมสมัยทั้งที่ทำด้วยวาจาและเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นสัญญาจ้างทำของ (ฟรีแลนซ์) นั่นหมายความว่าแรงงานละครไทยจำนวนมากไม่ได้รับความคุ้มครองพื้นฐานเรื่องชั่วโมงทำงาน ไทยเธียเตอร์ฟาวน์เดชั่นจึงจัดทำข้อกำหนดชั่วโมงทำงานเพื่อให้แรงงานละครไทยมีเวลาว่างเพียงพอดูแลและพัฒนาร่างกายและจิตใจของตน รวมถึงมีเวลาเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมได้ในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง

 

ข้อกำหนดชั่วโมงทำงาน

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565

ไทยเธียเตอร์ฟาวน์เดชั่นกำหนดให้ผู้ใช้โล่เสมอภาค (Equity Shield) ในสื่อประชาสัมพันธ์ของตนปฏิบัติตามข้อกำหนดชั่วโมงทำงานต่อไปนี้

  1. ทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์โดยทั่วไป

  2. พักอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมงภายในทุก 5 ชั่วโมงหรือตามแต่ตกลงกัน

  3. หากตกลงกันโดยสมัครใจว่าต้องทำงานเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน หรือเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เป็นครั้งคราว ให้จ่ายค่าล่วงเวลาไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของอัตรารายชั่วโมง และไม่น้อยกว่า 3 เท่าในวันหยุดราชการ

ไทยเธียเตอร์ฟาวน์เดชั่นไม่ได้กำหนดอัตราค่าตอบแทนในกรณีทำงานกลางคืน โดยให้ถือว่าเป็นไปตามที่ผู้รับจ้างและผู้ว่าจ้างตกลงกัน

 

ทำไมต้อง 8 ชั่วโมงต่อวัน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

 
 

ตัวเลข 8 และ 40 ชั่วโมงไม่ได้เป็นเลขที่สุ่มขึ้นมา แต่เป็นจำนวนชั่วโมงที่ระบุตามกฎหมายในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนอร์เวย์ สวีเดน ญี่ปุ่น จีน สเปน โปรตุเกส รัสเซีย โปแลนด์ และสหรัฐอเมริกา

ตัวเลข 8 และ 40 นี้ผ่านการต่อสู้ให้ได้มา ในศตวรรษที่ 19 แรงงานในสหรัฐอเมริกาทำงานกันมากถึง 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (เฉลี่ยวันละประมาณ 14 ชั่วโมง) เมื่อต้องทำงานเยี่ยงทาส ไม่มีเวลาดูแลร่างกาย จิตใจ และใช้ชีวิตก็เกิดการเรียกร้องขึ้น วันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1886 แรงงานในชิคาโกประท้วงหยุดงาน เกิดการปะทะกับตำรวจ ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต หลังจากนั้นวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีจึงกลายเป็นวันแรงงานสากล

ในความเป็นจริงแล้ว หลายประเทศมีชั่วโมงทำงานจริงเฉลี่ยต่ำกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ด้วยซ้ำ ผลสำรวจของ OECD ระบุว่า เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี สเปน ญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ล้วนแต่มีชั่วโมงทำงานจริงเฉลี่ยต่ำกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จะเห็นได้ว่าการกำหนดให้หนึ่งสัปดาห์มี 40 ชั่วโมงทำงานนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่และเป็นไปไม่ได้เลย

 

ศิลปะ: งานหรืออดิเรก

ไทยเธียเตอร์ฟาวน์เดชั่นยึดหลักง่ายๆ ว่า “Work - Rest - Free” นั่นคือใน 24 ชั่วโมงเราควรทำงานที่ได้ค่าตอบแทนเพียง 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และมีเวลาส่วนตัวอีก 8 ชั่วโมง เวลาส่วนตัว ได้แก่ เวลาที่ใช้ทำงานบ้าน จัดการกิจธุระอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับงาน และอาจรวมถึงเวลาสำหรับความสนใจส่วนตัว เช่น สร้างงานศิลปะด้วย

ก่อนอื่นต้องขอกล่าวให้ชัดเจนว่า TTF ไม่มีหน้าที่กำหนดให้ใครจัดการกับชีวิตตนเองอย่างไร หากนักการละครยินดีจะรับงานจากผู้ว่าจ้างหลายท่านและทำงานที่ได้รับค่าตอบแทนมากกว่าวันละ 8 ชั่วโมงก็ย่อมเป็นสิทธิส่วนบุคคล การกำหนดชั่วโมงทำงานวันละ 8 ชั่วโมงนี้เป็นไปเพียงเพื่อให้ผู้ว่าจ้างหนึ่งท่านไม่มอบหมายงานให้ผู้รับจ้างหนึ่งท่านหนักเกินไปในหนึ่งวัน

ประเด็นที่ว่าการสร้างสรรค์งานศิลปะเป็นชั่วโมงงานหรือเวลาส่วนตัวนั้นขึ้นอยู่กับว่าเกิดการจ้างงานขึ้นหรือไม่ หากท่านใดทำงานศิลปะเพื่อสุนทรียะ ไม่ได้ประสงค์จะสร้างรายได้จากการทำศิลปะชิ้นนั้นๆ ก็จะถือว่าเป็นงานอดิเรก ไม่มีการจ้างงานใดเกิดขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความเสมอภาค แต่หากงานศิลปะนั้นนำไปสู่การสร้างรายได้ไม่ว่าจะมากน้อยเท่าไรก็ตาม ย่อมกลายเป็นชั่วโมงงาน เมื่อเป็นชั่วโมงงานก็ต้องคำนึงถึงความเสมอภาค อาทิ ค่าจ้างเพื่อชีวิตและการกำหนดชั่วโมงทำงาน มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นแรงงานทาส ทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อค่าตอบแทนที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ การทำงานก็จะไม่เติบโต ไม่ยั่งยืน จนอาจต้องล้มเลิกไปในที่สุด