CHIANG MAI THEATRE SERIES: มณฑาทิพย์ สุขโสภา - พระจันทร์พเนจรและการเดินทาง(ภายใน)ที่ไม่สิ้นสุด (ตอนที่ 2)

นลธวัช มะชัย : เรื่อง

 
ภาพ : สิงหา อรุณไพโรจน์

ภาพ : สิงหา อรุณไพโรจน์

 

อาจารย์เทพศิริ เขียนเล่าเรื่องราวด้วยตัวอักษรและภาพวาด

ป้าทิพย์ เขียนเล่าเรื่องราวด้วยแสงและเงา

ประวัติศาสตร์สร้างโลกคู่ขนานที่ไม่บรรจบ ตั้งแต่ความรู้สึกฝังใจไปจนถึงการปฏิเสธร่มเงาของศิลปินผู้เป็นพ่ออย่างทระนง แต่ในดีเอ็นเอของพ่อลูกกลับเป็นนักเล่าเรื่องตัวฉกาจทั้งคู่

การเดินทางอันยาวนานบนเส้นทางศิลปะการละครหุ่นเงาร่วมสมัยของป้าทิพย์ หลังจากก่อตั้ง Wandering Moon Performing Group นอกจากเธอทำงานเป็นทั้งนักแสดง ผู้กำกับ และผู้ฝึกสอนการทำละครหุ่นเงาแล้ว ป้าทิพย์ได้ออกเดินทางไปแสดงทั่วโลก เข้าร่วมโครงการศิลปินในพำนักที่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย มาเลเซีย บังคลาเทศ เยอรมัน และออสเตรีย จากการเดินทางสะสมประสบการณ์ต่างแดน ทำให้เธอได้เรียนรู้ทั้งทุกข์ สุข สมหวัง และผิดหวัง

ครั้งหนึ่งช่วงราวๆ ทศวรรษปี 2550 ป้าทิพย์เคยเป็นหนึ่งในห้าสิบศิลปินทั่วโลก เข้ารอบสามคนสุดท้ายของทุน Rolex mentor and protégé arts initiative แม้ครั้งนั้นเธอไม่ได้รับทุน แต่เหตุผลของกรรมการตัดสินรางวัลจากนิวยอร์กที่ว่า ป้าทิพย์มีประสบการณ์มากกว่าจะเป็น Young Artist ดูเหมือนจะเป็นการการันตีในระดับโลกว่าเธอคือ “ศิลปิน” เต็มตัวแล้วในตอนนั้น 

 

จิตวิญญาณหุ่นเงา จิตวิญญาณศิลปิน ในลมหายใจเข้าออก

ป้าทิพย์เล่าว่าได้ร่วมช่วยพัฒนาโครงการศิลปะเพื่อการพัฒนาชุมชนและวัฒนธรรมหลายแห่ง ทั้งโรงพยาบาล ค่ายผู้ลี้ภัยชายแดน โครงการในชุมชนเพื่อการฟื้นฟูและป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ สิทธิเด็กชนกลุ่มน้อย รวมถึงประเด็นเกี่ยวกับเพศตามภูมิภาคแม่น้ำโขง โครงการนำร่องเพื่อสร้างความตระหนักถึงการป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศในเด็ก และอีกมากมาย

แต่หากเรามองลึกลงไปถึงจุดร่วมบางประการในการทำและสร้างงานของเธอคือการยึดโยงอยู่กับความเป็นผู้หญิง รากเหง้าวัฒนธรรมท้องถิ่น หุ่นเงาร่วมสมัย และความรู้สึก “รัก” ในสิ่งที่ทำร่วมในงานเสมอ

“เราไปเห็นงานเทศกาลที่เยอรมัน โลกมันถูกเปิดออก ความรู้สึกพี่เหมือนกลับบ้าน เพราะตอนที่ทำงานหุ่นเงาคุยกับใครไม่รู้เรื่องเลย ถามใครปรึกษาใคร ไม่มีใครให้คำตอบพี่ได้เลย แต่พอไปถึงเยอรมัน มันทำอย่างนี้ได้ มันทำอย่างนั้นได้ ทุกคนพูดเป็นภาษาเดียวกัน พูดเรื่อง visual ที่ผ่านแสงและเงาออกมาเป็นภาคขยายออกมา แล้วพูดเรื่องมิติบนเวทีที่แสงเอามันไปมีบทบาทกับตัวละครหรือหุ่นหรืออารมณ์คนดูอย่างไร การเข้าถึงของแสงเงาต่อ object มันมีผลอย่างไรบ้างแล้วในความเป็นจริงโดยปรัชญาเล็กๆ ของเขาไม่ได้ต่างจากหนังตะลุงหนังใหญ่เลย สิ่งที่ฝรั่งอิตาลี สิ่งที่ฝรั่งเยอรมันพูดกับสิ่งที่หลวงพ่อวัดขนอนพูด เป็นเรื่องเดียวกันคือเรื่องจิตวิญญาณ”

“เวลาที่มันใช่ เหมือนมันโดนสูบ ดึงเข้าหากัน มันจะสามารถสื่อสารกับสิ่งนั้นได้มากกว่าคนอื่น แต่ว่าในความเป็นจริงแล้วคำพูดมันอาจจะบอกไม่ได้  อธิบายไม่ได้ว่าทำไมถึงอินมาก แล้วทุกครั้งเวลาเล่าเรื่องนี้พี่ไม่สามารถใช้คำอย่างอื่นได้นอกจากคำว่าตกหลุมรัก”

“การตกหลุมรักคืออะไรที่มันลึก เวลาตกหลุมรักจะถอนตัวยากมากกว่าจะรู้ตัวมันเข้าไปแผ่ซ่านแตกรากในร่างกายในหัวใจจนมันถอนไม่ได้แล้ว มันเอาขึ้นไม่ได้แล้ว ลักษณะของการที่เวลาพี่เห็นหุ่นเงาหรือเงาที่มีสีครั้งแรกแล้วเรารู้สึกมันต้องทำคอเอียง 45 องศา แล้วข้างในมันก็ทำงาน เราไม่รู้ว่า process ข้างในร่างกายเราทำงานยังไง แต่เรารู้ว่าพอเราเจอสิ่งนี้มันเข้าไปข้างใน มันเป็นของเรา เราเป็นของมัน แล้วจะทำให้เราสามารถอยู่กับมันได้มาเป็นสิบๆ ปี แบบไม่เบื่อ เวลาทำงานทุกครั้งก็จะมีความรู้สึกเหมือนว่ายน้ำอยู่ในมหาสมุทรตลอดเวลา เวลาคิดอย่างอื่นอาจจะซัฟเฟอร์ แต่เวลาคิดงานมันจะเหมือนอยู่ใต้น้ำในมหาสมุทร เป็นอย่างนี้ทุกครั้งเลยมันจะแบบอิน พี่จะชอบมาก ถ้าไม่นิ่งก็จะทำไม่ได้”

“พอมันดิ่งแล้วทำหุ่นเงา พี่ต้องนั่งคิดผ่านเทคนิคทำสตอรี่บอร์ดออกมาจริง แต่ไม่รู้ว่าภาคปฏิบัติจริงๆ จะได้แบบที่เราคิดรึเปล่า เพราะเวลาคิด เวลาทำสตอรี่บอร์ดทุกครั้งมันจะคิดผ่านเทคนิคตลอดเวลา พอไปถึงซีนนี้จะใช้ไฟแบบนี้ ทำซีนนี้แล้วให้อีกคนมาซ้อนตรงนี้ แล้วใช้ไฟฉายถือแบบนี้นะ เวลาคิดมันคิดพร้อมกันเลย สามเลเยอร์คิดพร้อมกันหมดเลย เพราะงั้นพี่จะเป็นคนที่คิดมากเวลาทำงาน อย่ามาอยู่ใกล้ๆ ทำไม่ได้ พลังงานอื่นรบกวนจะทำไม่ได้เลย”

“เวลาคิดงานมันจะคิดพร้อมกันทีเดียว เลเยอร์มันจะออกมาเลย เพื่อให้เห็นผลลัพธ์เลยว่าพออยู่ตรงหน้าจอที่คนดูเห็นมันเป็นยังไง แล้วจะ Transit ไปยังไง ใครจะเป็นมือต่อไป ใครจะเป็นคนถือไฟอีกอัน สมมติว่ามันมีคนอยู่แค่สามคน แต่เราจะทำภาพแบบนี้ออกมา เป็นไปได้ไหม คิดผ่านเทคนิค จำนวนคน และถ้าคนไม่พอจะทำยังไงให้มันเกิดขึ้นได้โดยที่ไม่มีคน ไม่ใช้คนได้ไหม? มันจะคิดบิดไปบิดมาตลอด เหมือนกับสมองมันโดนเขย่าๆ ไม่ใช่แค่เขียนพล็อตเรื่องออกมา หยิบมาทำเป็นรูปแล้วไปเล่น ไม่ใช่ เพราะมันคิดผ่านเทคนิคผ่านประสบการณ์หมดเลย ถ้าไฟแค่นี้ไม่พอ ต้องไปทำไฮโดรเจนเพิ่มอีกสามดวง สามดวงไม่พอเพราะมีแค่สามคน ต้องเอาไฟตั้งมาอีกสองดวงเพื่อให้ยืนอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องมีคนแฮนด์เฮลด์ ทั้งหมดทั้งมวลจะประมวลผลในหัวสมองเสร็จสรรพเรียบร้อยแล้ว”

“ถ้าทีมงานมีประสบการณ์เราจะสบายหน่อย ไม่ต้องพูดมากเพราะเขาจะรู้ว่าเราต้องการอะไร ถ้าเราบอกแบบนี้เขาจะรู้ว่าจะหยิบอะไรขึ้นมาทดลอง แต่ถ้าเป็นคนใหม่มันจะเครียด เพราะหนึ่งเมื่อเขาไม่รู้เทคนิคแล้วร่างกายไม่เสถียรพอที่จะถือไฟให้นิ่งๆ จะทำงานลำบาก แล้วยังมีแสงฮาโลเจนกับจอที่มันใหญ่ในความมืด ทุกคนต้องเห็นภาพเดียวกันคือภาพที่อยู่ตรงจอ ไม่ใช่แค่ถือไฟไปจ่อ แล้วทำให้เป็นเงา ต้องดู composition ทั้งหมดเลยว่าได้ไหม ถ้าคนเป็นไฮเปอร์ถือไฟไม่ได้เลย เงาจะกระเพื่อมตลอดเวลา เพราะลมหายใจสำคัญมาก”

“ถือไฟนี่ใช้ร่างกายนะ ไม่ใช่แค่จับไฟฉายขึ้นมา ยังมีเรื่องสรีระ body ต้องโฮลด์ body เวลา movement มันมีเทคนิคเชิง physical ที่พี่ไม่ได้สอนเรื่องนี้มาก เวลามาทำงานด้วยกัน พี่เห็นว่าคนนี้มีปัญหา พี่ถึงจะบอกว่าทำแบบนี้นะ เพราะพี่อยากให้ทุกคนได้ทดลองทำเอง แล้วก็เรียนรู้ว่ามันเป็นยังไงกับตัวเอง กับร่างกายตัวเอง พี่จะไม่มานั่งสอน”

 
ภาพ : คณะละครพระจันทร์พเนจรฯ

ภาพ : คณะละครพระจันทร์พเนจรฯ

 

แสงและเงาทำให้เราไร้ตัวตน 

“ถ้าคนเป็นทีมงานก็จะรู้ตัวเองเพราะเวลาเราอยู่กับแสงเงาการขยับร่างกายเรา มันจะเหมือน Matrix  ขยับเร็วขยับมากไม่ได้ สติเราต้องเต็ม สติต้องนิ่งมากเวลาเล่น จะเหมือนมิติที่ซ้อนกันอยู่ เขาถึงบอกว่าการเดินทางของแสงเงามันเร็วมาก เหมือน ณ จุดจุดหนึ่งเราต้องเอาตัวเองเข้าไปเทียบกับแสงเงาที่มันตกกระทบที่จอ มันจะหลุดเข้าไปในอีกมิติหนึ่ง มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ ปรากฏการณ์นี้เกิดไม่บ่อยครั้งกับทีมงานพร้อมกัน สมมุติว่าทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกัน เราจะรู้เลยว่ามวลของการเคลื่อนตัวในเวลา 7 นาทีมันเหมือนชาติหนึ่ง”

“มันเหมือนทำงานมา 3 เดือน พอเสร็จการแสดง เหนื่อยมาก มันใช้พลังภายในเยอะมากเหมือนกัน แต่ละจังหวะการเคลื่อนตัวยิ่งถ้าทุกคนเคลื่อนเป็นจังหวะเดียวกัน จะเห็นชัดมาก มันจะหยุดเวลาข้างนอก หยุดทุกอย่างหมดเลย อันนี้ใกล้เคียงกับอาการเชิงวิทยาศาสตร์ หลายอันสามารถเป็นการทดลองเชิงวิทยาศาสตร์ได้เลย อย่างเวลาเรามีสมาธิมากๆ สมมุติว่าเราส่องแสงเงาเป็นเงาของเราไปตกกระทบที่กำแพงหรืออะไรสักอย่าง แล้วมีคนคนหนึ่งไปหยิบดินสอมาแล้วค่อยๆ ขีดเส้นไปตามเงาของเรา แต่เราจะรู้สึกที่ผิวสัมผัสเลย”

“หนัง Matrix เวลาตัวร้ายมายิงพระเอก เวลามันหลบ ซึ่งพี่เข้าใจว่ามันคือหลักการเดียวกันกับการทำสมาธิ เวลาพระธุดงค์หรือพระที่เขาเป็นเกจิ ที่สามารถถอดร่างหรืออะไรได้ แต่อันนี้มันดูเป็นรูปธรรม คือมันเป็นแบบฝึกหัดที่ใกล้เคียงในความรู้สึกของพี่นะ มันใกล้เคียงมาก ถ้าเรา advanced หรือเรามีเวลา study มันในเชิงอภิปรัชญามากกว่านี้ พี่ว่ามันพาคนให้หลุดได้”

“คนดูรู้สึกว่าเวลาดูเหมือนหลุดเข้าไปในอีกมิติหนึ่ง อันนี้สำหรับคนดู ฝั่งคนทำมันมีจังหวะจะโคนในการที่จะทบทวนในการพิจารณา แต่บวกกับวิธีการเล่าเรื่องด้วยนะ งานพี่เป็นงานที่เหมือนพาคนอื่นเข้าไปเข้าไปดูข้างในไม่ได้ อิน เอ้าท์ แต่พาคนข้างนอกเข้าไปข้างใน งานพระจันทร์พเนจรฯ มันจะรู้สึกอิน จะค่อยๆ สูบมันเหมือนถูกสูบเข้าไปในอะไรบางอย่าง ซึ่งพองานส่วนใหญ่ เป็นเซอร์เรียลใช้สัญลักษณ์และใช้เทคนิคของแสงเงาช่วยดึงอารมณ์คนดูเยอะมาก”

 

การเดินทางเชิงจิตวิญญาณ

“ทุกครั้งมันทำงานผ่านเทคนิค เพราะฉะนั้นไม่ใช่สักแต่ว่าอยากเห็นภาพนี้ออกมา แต่มันทำงานผ่านเทคนิคที่ว่ากว่าจะเป็นภาพนี้แล้วต่อจากภาพนี้ ข้างหลังจอมีการทำอะไรเกิดขึ้นบ้าง เพราะฉะนั้นการคิดคำนวณเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่แรก ต้องคิดว่าเงามันมี element ความพิเศษของเงา มันเล็กใหญ่ มันหายไป มันกลับมา มันสูงยาวได้ มันทับซ้อนกันได้ มันเบี้ยวได้ มันหลบได้ พวกนี้ต้องอยู่ในเนื้อตัวร่างกายเราหมดแล้ว”

“ตอนที่เราคิดเรื่อง จะไม่มาทำเรื่องเสร็จ ทำสตอรี่บอร์ดต่อ แล้วมาทดลองเทคนิค วันนี้มันไม่มีแบบนั้นเลย 10 ปีหลังไม่มีแบบนั้นเลย แรกๆ มันอาจจะมีเนื่องจากว่าเรายังทดลอง 10 ปีแรกมันจะสนุกมาก ลูกเล่นแพรวพราวมากเพราะว่าคิดแต่เทคนิค เรื่องนี้ไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่แต่เทคนิคการทำเงาออกมาสนุก”

“แต่พอในช่วงหลัง มันเริ่มสมดุลผสานกันระหว่างตัวเทคนิคกับ content แล้วเรื่องส่วนใหญ่ที่เราได้มามักจะเป็นเรื่องที่เป็นนามธรรม เช่นจะเล่าเรื่องศีลธรรมยังไงผ่านเงา แค่ทำ visual arts ระบายสีให้ออกมาเป็น abstract ก็โคตรยากแล้ว ทำไงให้เป็นสตอรี่แล้วพูดเรื่องจริยธรรม จะทำยังไงให้คนเข้าใจเรื่องจริยธรรม พูดเรื่องการทำแท้ง การช่วยตัวเองของผู้หญิง เล่าผ่าน abstract จะเล่ายังไง ความหมายของคำว่าผู้หญิงจะเล่ายังไงผ่านหุ่นเงา ที่มันไม่ได้เอา body มาเล่าเรื่อง ไม่ได้มี dialogue ออกมา โคตรยากเลย พี่บอกได้คำเดียว ว่าข้างในมันคุกรุ่น ท้าทาย”

 
ภาพ : คณะละครพระจันทร์พเนจร

ภาพ : คณะละครพระจันทร์พเนจร

 

“ความพิเศษของสิ่งที่เป็นอยู่มันทำให้เรากล้าที่จะเดินทางเข้าไปแล้วก็ทำแบบนี้ จะทำแบบนี้นะ ไม่รู้ว่าผิดหรือถูก แต่รู้ว่าจะทำแบบนี้เพื่อให้มันรู้สึกแบบนี้ ทำแบบนี้คนดูจะรู้สึกแบบนี้นะ แต่ถ้าทำแบบนี้คนดูจะรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง ไม่เอาแบบนั้นก็จะทำแบบนี้แทน มันเป็นชุดคำตอบที่เราเรียนรู้ในระหว่างสร้างผลงาน ทุกอย่างประกอบรวมกันหมด ไม่มีการทำเสร็จแล้วแค่มานั่งสังเคราะห์ ในระหว่างการทำงานด้วยกัน ทีมงานมีการคุยกันผ่านเทคนิค ผ่านการตกตะกอน พี่ก็จะให้ขายไอเดียว่าใครเห็นอะไร ทำไมต้องเป็นภาพนี้ แล้วภาพนี้ทำได้จริงไหม ถ้าผ่านไฟกับเงามันทำได้จริงไหม ทำไม่ได้เพราะอะไร ทำได้เพราะอะไร ทำแล้วมันจะมีชุดคำถามแบบนี้อยู่ในหัวตลอดเวลาที่ทำงาน ก่อนที่สตอรี่บอร์ดจะออกมา”

“ปรัชญาอยู่กับเงา มันเห็นเงาแต่มันจะไม่เป็นแบบนี้ตลอดไป เงามีการเปลี่ยนแปลง มีคุณสมบัติของมันบางอย่าง ที่เราต้องทำความเข้าใจ แล้วเราต้องเอามันมาใช้เวลาเราคุยเรื่องนามธรรม มันจะซ่อนอยู่ในนั้นเรียบร้อยแล้ว เราต้องคิดให้ได้ว่าจะเอามันมาเล่าเรื่องยังไง แล้วข้างในจะสนุก บางคนบอกว่างานที่จะไม่ทำคือหุ่นเงาเพราะมันยาก แต่ในขณะที่เราบอกว่า ยากหรอ? ทำไมถึงบอกว่ายาก? คือคนมันอินเลิฟไปแล้ว มันไม่มีการปฏิเสธ ไม่มีเหตุผลว่าทำไมถึงไม่ได้ มันมีแค่ว่าเดี๋ยวจะทำให้ดู มันมีแค่นี้”

 

ใช้ความทุกข์เป็นตัวขับเคลื่อนงาน

คงไม่ใช่ ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร เพียงชุดคำถามเดียว ที่จะทำให้เข้าใจพื้นฐานตัวละครและเหตุการณ์ซับซ้อน ก่อนที่มันจะกลั่นก่อหล่อเลี้ยงออกมาเป็นหยาดเหงื่อเลือดเนื้อศิลปินสักคน

คนละครถูกสอนให้ตั้งคำถามและหาคำตอบ เพื่อสร้างตัวละครและโครงเรื่องที่ดีสักเรื่องขึ้นมา ต้องหาคำตอบให้ได้แม้คำตอบจะไม่มีถูกผิดก็ตาม แต่มันคงไม่ง่ายเช่นนั้นหากบางคำถามต้องใช้ระยะเวลากลั่นคำตอบออกมาจากจิตวิญญาณของตัวศิลปินเองร่วมครึ่งค่อนชีวิต 

“การที่จะมาเป็นศิลปินแบบเราในทุกวันนี้ มันมีปมบางอย่าง ซึ่งเรารู้สึกว่าเมื่อกลับไปมองที่เคยไปดูงานศิลปินยุค Rodin Picasso เราก็รู้สึกว่าทำไมศิลปินในยุคนั้น มันถูกขับเคลื่อนด้วยความทุกข์แล้วผลงานมันกลายเป็นอมตะไป แต่ละคนชีวิตบัดซบหมดเลย ชีวิตกลั่นออกมาจากความทุกข์ยาก การต่อสู้ แต่ละคนมีจุดจบชีวิตที่ไม่ได้สวยงามขนาดนั้น มีไม่กี่คนหรอกที่จบแบบโอเคๆ ส่วนใหญ่จะแบบแย่ๆ กันหมดเลย ศิลปินบางคนในยุคนี้ยังใช้ความทุกข์เป็นตัวขับเคลื่อนงานค่อนข้างสูง”

“เวลาที่เรามีความทุกข์ เราไม่ได้เป็นคนแรก แต่จะมีกระบวนการเรียนรู้อะไรบางอย่างที่ทำให้ข้างในได้แข็งแรง ได้เติบโต เห็นถึงการเปลี่ยนถ่ายของจิตวิญญาณไปเองว่ามันจะไปทิศทางไหน เพราะว่ามันจะมีแน่นอนทุกห้าปีสิบปี มีการไขว้เขว แล้วดิ่ง ดิ่งแบบ ไม่เอาแล้ว ไม่ทำแล้วงานศิลปะ มีแน่นอนแล้วมันจะต้านทานกระแสไม่ได้ ในขณะเดียวกัน พี่รู้ว่าพี่มีทักษะพิเศษในการผันความทุกข์ให้ออกมาเป็นงานศิลปะ เวลามันขับออกมาตอนทำงานมันออกมาดีมากเลย เรารู้ว่าเรามีทักษะเรื่องนี้สามารถผัน negative ให้เป็น positive มีพรสวรรค์เรื่องนี้ เพราะชีวิตมันเคยทับซ้อนเรื่องนี้มาเยอะ แล้วรอดมาได้เพราะเราทำงานศิลปะ มันรู้อัตโนมัติโดยตัวเองอยู่แล้วเวลาคนเราอยู่ในสภาวะอย่างนี้ แต่ตอนนั้นไม่รู้ มันแค่เอาตัวรอดเฉยๆ แค่ให้รอดไปเป็นวันๆ อาทิตย์เป็นเดือนเป็นปี ไม่เข้าใจระบบ ไม่เข้าใจชีวิตเราตอนนั้น”

 
ภาพ : คณะละครพระจันทร์พเนจรฯ

ภาพ : คณะละครพระจันทร์พเนจรฯ

 

บางคนเคยกล่าวไว้ว่า “ชีวิต” คือต้นแบบของ “ละคร” การเทียบเคียงชีวิตกับละครย่อมเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อให้ได้เห็นถึงสิ่งที่เป็นคุณค่าในการใช้ชีวิต หากเป็นเช่นนั้น ละครก็คือการจำลองชีวิตมานำเสนอบนเวที

นักการละครจึงต้องมีบทบาทและสวมวิญญาณเป็นนักสังเกตชีวิต ผู้คน และสิ่งต่างๆ รอบตัว ก่อนจะนำทั้งหมดนั้นมาย่นย่อ แจกแจง ตัดทอน ขยายความ จำลองให้ผู้ชมที่มีพื้นฐานแตกต่างกันออกไปได้รับรู้ร่วมกันบนเวที 

 

ความทรงจำทับซ้อนและการคลี่คลายครั้งใหญ่อีกครั้ง

วอลเตอร์ แอนเดอร์สัน (Walter Anderson) นักเขียนบทละครชาวอเมริกัน เคยเขียนไว้ว่า “Our lives improve only when we take chances and the first and most difficult risk we can take is to be honest with ourselves” หากแปลคร่าวๆ คงได้ความว่า ชีวิตมนุษย์นั้นจะพัฒนาไปได้ก็ต่อเมื่อเรากล้ารับความเสี่ยง และความเสี่ยงแรกที่สำคัญที่สุด ที่เราจำเป็นต้องแบกรับคือความซื่อสัตย์กับตัวเอง

ตั้งแต่ทำงานกับป้าทิพย์มา ผมไม่เคยกังขาในความซื่อสัตย์และตรงไปตรงมาของเธอเลย มันประจักษ์ชัดอยู่ตรงหน้า แต่ผมอดสงสัยไม่ได้ว่าหากเธอต้องใช้มันเผชิญหน้ากับบางคนที่อยู่ในตัวเอง จะเป็นเช่นไร? อย่างน้อยในสายตาคนนอกอย่างผม คงยากจะประเมินความเจ็บปวดและหยดน้ำตา  

“ปีนี้เป็นปีแรงอีกปีหนึ่ง เพราะก็ชัดเจนว่าอาจารย์เทพเป็นความจำเสื่อม เหตุการณ์เมื่อเร็วๆ มานี้แหละ พี่มีปมด้อยตอนเด็กๆ บางอย่าง แล้วเหมือนกับว่าเราต้องจัดการปมด้อยตอนนี้ เพื่อจะดึงความสัมพันธ์ เพื่อจะทำให้ความสัมพันธ์ส่วนอื่นๆ ของเรากับคนอื่นๆ ในชีวิตเรามันดีขึ้น”

“พี่อยู่ในห้องที่โรงพยาบาลไม่ได้เลย อยู่ห้องสี่เหลี่ยมกับพ่อ 24 ชม. มาสองวัน แล้วออกมานั่งร้องไห้ตั้งแต่ตีสอง เพราะว่าคืนนั้นพ่อลุกขึ้นมา แล้วก็มาชะโงกหน้าในความมืดมาดูพี่ พี่นอนโซฟาเฝ้าญาติ เป็นภาพเดียวกันกับที่แม่ทำกับพี่ตอนอายุ 12 ตอนที่จับแม่เข้าโรงพยาบาล เขาไม่รู้ตัวนะ ภาพมันเป็นภาพเดียวกันเลย จนพี่อยู่ในห้องไม่ได้ พี่ไปที่ระเบียง ไม่รู้จะทำยังไง แล้วอาการเก่ามันขึ้นมาเลย อาการเก่าเมื่อตอนอายุ 12 มันเต็มไปหมด เลยต้องหนีออกไปนั่งร้องไห้อยู่นอกโรงพยาบาล”

โลกนี้คือละคร

ประโยคที่นักเรียนการละครยุคหนึ่งท่องกันติดปาก

แต่หากต้องขยายความ จะได้เนื้อนัยประมาณว่า รู้ว่าเราควรเล่นบทอะไรเมื่อไร รู้จักตัวตนที่แท้จริงของเรา รู้จักจุดอ่อนจุดแข็งตัวเอง และที่สำคัญคือต้องลงตัวภายในตัวเองก่อนจะไปเล่นบทอื่น ต้องไม่ขัดแย้งในตัวเองด้วย เพื่อสวมบทบาทต่างออกไป

คงง่ายหากพูดแบบนี้หลังคลี่คลายปมชีวิตไปได้แล้ว และทั้งหมดเกิดขึ้นบนเวทีการแสดง แต่มันไม่ได้เป็นเช่นนั้น เราลองสมมุติฉากเป็นโรงพยาบาลปี 2563 ตัวละครพ่อกับลูกสาวและความทรงจำ ต้องแสดงโดยที่ไม่รู้ว่าผู้กำกับและโครงเรื่องเป็นเช่นไร เราคงคาดเดาไม่ได้เลยว่าทั้งคู่จะรู้สึกและเผชิญหน้ากับอะไรภายในบ้าง 

“วันเกิดอาจารย์เทพ 6 มีนา ที่ผ่านมา พี่ตัดสินใจโทรศัพท์ไปคุยกับพ่อ เพราะตอนนี้แกอยู่น่านเป็นส่วนใหญ่ พี่ก็บอกว่า ขอโทษนะที่ชอบว่าพ่อว่าเป็นคนไม่ดี จริงๆ ในใจไม่ได้อยากทำนะ แต่รู้สึกว่าอยากปลดล็อกตัวเอง อยากรู้ว่าตัวเองสามารถทำสิ่งนี้ให้กับคนที่ทำให้เราเกิดมาได้ไหม แกก็บอกว่า มาขอโทษอะไร ทำอะไรผิด แกก็ไม่เข้าใจ เราก็คุย คุยนานจนจะวางสาย สุดท้ายก็บอกว่า ‘รักพ่อนะ’ พี่ตัดสินใจพูดว่ารักพ่อนะ แกก็ตอบกลับมาว่า ‘เอ้อ เหมือนกันนะ เอาคืนกลับไปสองสามเท่าเลย’ แกก็พูดอย่างนี้นะ แล้วแกก็หัวเราะ พี่วางโทรศัพท์ปุ๊บ ร้องไห้หนักเลย มีความรู้สึกว่าเหมือนเรายอมแทงตัวเองเพื่อให้คนอื่นรอด มันเหมือนเราอยากจะฆ่าคนบางคนที่อยู่ในตัวเรา ที่เรารู้สึกว่าเราไม่อยากเป็นคนๆ นี้แล้ว” 

“จากวันนั้นความเกลียดที่อยู่ในใจพี่ก็หายไปเลย ความเกลียดพ่อที่ฝังมาตั้งแต่แม่เข้าโรงพยาบาล ตั้งแต่เด็กๆ จู่ๆ มันก็หาย หายไปเลยนะ ทำแล้วเรื่องพ่อก็คลี่คลายไปเลย ความเกลียดความโกรธที่มันเคยมี  พ่อก็กลายเป็นมนุษย์ธรรมดาทันทีเลย”

“อีกสองสามวันแกก็โทรศัพท์กลับมา เป็นห่วง ตอนคุยกันก็ถาม พี่ร้องไห้ไปด้วยคุยไปด้วย แกถามว่าเป็นอะไร มีปัญหาทางการเงินเหรอ หรือมีปัญหาชีวิต ชีวิตมันง่ายๆ นะ สไตล์แก ชีวิตมันง่ายๆ สนุกๆ โอ๊ย มันไม่มีอะไรซีเรียส นู่นนี่นั่น ในวงเล็บเป็นห่วงพี่มาก จริงๆ ก่อนหน้านี้ พ่อแม่ลูกมันจะรู้โดยข้างในเลือดอยู่แล้ว เวลาเรามีทุกข์มันจะต้องมีใครคนใดคนหนึ่งกระวนกระวาย ก่อนหน้านี้พี่กุล คนที่ดูแลพ่อโทรศัพท์มาบอกว่า ประมาณสองสามวันที่แล้ว แกเหมือนจะคิดถึงทิพย์มากเลย แกบอกว่าให้เอาแกไปทิ้งไว้ที่ บขส. ก็ได้ เดี๋ยวแกจะนั่งรถทัวร์มาเชียงใหม่เอง โดยที่ไม่ได้รู้เรื่องนะ ไม่เคยคุยกัน แต่ไม่รู้ว่ารู้ได้ยังไง คือช่วงนั้นพี่ก็มีปัญหาเยอะมาก”

 

เทพศิริ มิวเซียม

ปี 2560 อาจารย์เทพศิริ สุขโสภา ศิลปินอาวุโส ในฐานะนักเขียนและจิตรกรชาวไทย ที่สร้างงานรวมไปถึงชื่อเสียงระดับนานาชาติ ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ แน่นอนว่ารางวัลนี้เป็นรางวัลเกียรติยศสำหรับศิลปินอย่างอาจารย์เทพศิริ แต่สำหรับลูกสาวนั้นจะเป็นเช่นไรกัน? 

หลังจากสถานการณ์หลายอย่างคลี่คลายไปบ้างเมื่อไม่นานมานี้ หวนนึกถึงสุภาษิตไทยที่ว่า “ได้อย่าง เสียอย่าง” เมื่อได้สิ่งหนึ่งมา ก็ย่อมเสียสิ่งหนึ่งไป จะเป็นเช่นนั้นไหม? จะเป็นเช่นไร? ในความเป็นจริงแล้วเธอกำลังคิดฝันอะไรอยู่ การพเนจรจะเป็นเช่นไรต่อ? จากบทเรียนประวัติศาสตร์ทั้งชีวิตของตัวเอง   

“วันหนึ่งสุดท้ายก็หนีไม่พ้น พี่รู้สึกว่าคนเราหนีรากเหง้าตัวเองไม่ได้ สุดท้ายก็จะโดนชะตากรรม โดนจักรวาลดึงมาให้มายอมตัวตนของตัวเองให้ได้ว่าเราเป็นใคร มาจากไหน เราต้องมาเผชิญหน้ากับมัน แล้ววันหนึ่งต้องมานั่งน้ำตาไหลก็ต้องยอมรับ โอเค นี่เป็นบ้านนะ ต้องถือมันต่อนะ จากนี้ต่อไปต้องเป็นคนถือที่นี่ต่อไม่ใช่พ่อแล้วนะ”

“ช่วง 3 ปีหลังมานี้ มันเป็นไทม์ไลน์ที่พี่ดิ้นกระเสือกกระสน ว่าจะไม่อยู่ที่นี่ แต่มันไม่ยอมให้พี่ไป ต้องกลับมา มันมีเสียงเรียกตลอดเวลาว่าต้องกลับมา ต้องกลับมาทำงานที่นี่ ต้องมาดูแลที่นี่ แล้วพ่อพี่อยู่ดีๆ ก็ทรุดเลย อาจารย์เทพเป็นคนแข็งแรงทุกคนรู้ แกเป็นคนแข็งแรงมาก แต่ตอนที่แกทรุดมันเร็วมาก อยู่ดีๆ แกก็เอ๋อไปเลย จำใครไม่ได้ ต้องเอาไปแสกน MRI พี่งงไปเลย ไม่มีทางให้เลือก มีอยู่ทางเดียวคือพี่ต้องถือต่อ ก็เลย commit ว่าจะทำที่นี่แหละ แล้วค่อยๆ ก้าวเดินเบาๆ”

 
ภาพ : นลธวัช มะชัย

ภาพ : นลธวัช มะชัย

 
ภาพ : นลธวัช มะชัย

ภาพ : นลธวัช มะชัย

 

“ความตั้งใจเรื่องที่จะทำโรงละครคือจริงๆ มันคือเรื่องเดียวกันคือเรื่องเมื่อ 20 ปีที่แล้วที่คิดว่าจะทำ ตอนนี้มันกลับมาเป็นรูปธรรมอีกที แต่มันไม่ได้มาภายใต้โรงละครพระจันทร์พเนจร แต่ภายใต้เทพศิริ Creative Space กลับเข้ามาซ้ำรอยอันเก่าแต่สเกลใหญ่กว่า ภายใต้ร่มที่ใหญ่กว่า ประกอบกับการตกตะกอน 20 ปีที่ผ่านมา มันตกตะกอนเรื่อง Branding  ตกตะกอนเรื่องงานที่ต้องใช้ต้นทุนทางสังคมที่มีอยู่แล้ว ทุกองค์กรทุนพอมีปัญหาเขาจะเริ่มให้กลุ่มองค์กรใหญ่ๆ เลี้ยงดูตัวเอง แล้วพวกเพื่อนๆ พี่น้องก็จะเริ่มหาหลุมของตัวเอง ว่าที่บ้านมีอะไรก็จะเริ่มกลับไป start ที่บ้าน ส่วนใหญ่เพราะว่าองค์กรทุนไม่ตอบโจทย์เดิม มันเปลี่ยนไปแล้ว ทุนก็น้อยลง อยู่ในลูป มันเข้าไทม์ไลน์กับจังหวะสังคมบ้านเราพอดี เลยมาเป็นแบบนี้ พี่ก็ยังไม่รู้ว่าจะไปไหนต่อ แต่รู้ว่าพี่คงต้องทำ เทพศิริ มิวเซียม ให้ขึ้นมาภายในสามปีนี้ แต่ว่านำร่องด้วย เทพศิริ Creative Space ก่อน แล้วค่อยๆ ขยับขยายไป”

หลบอยู่ในความมืดมิดของโรงละคร ซ่อนในเงาของตัวเอง พอให้ได้ยินเสียงที่ลึกลงไปในก้นบึ้งหัวใจ บางห้วงยามประโยคบอกรักก็เศร้าหมอง ความหมายของการดำรงอยู่ออกเดินทางล่วงหน้าไปก่อนแล้ว แม้ในความเงียบยังแผดเสียงดังเช่นเดียวกับชีวิตจริงที่ยังก้องสะท้อนความหมายอันซับซ้อนกว่าตัวละครบนเวที คำถามและคำตอบกำลังโต้แย้งกันอย่างเผ็ดร้อนบนเวทีแห่งชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง 

คำถามจะมีคำตอบหรือไม่?

เวลาที่เหลือจึงไม่น่าจะง่ายสำหรับเธอ แม้ยืนหยัดสบตากับความทรงจำ แต่ความเจ็บปวดยังคงทำงาน และเธอใช้มันสร้างงานได้งดงาม ทว่าแสงไฟที่ยิ่งเจิดจ้าก็ยิ่งทำให้เงานั้นเข้มข้นชัดเจนเสมอ

ผมนั่งมองพี่ทิพย์ทำงานต่อเนื่องมาหลายชั่วโมง เริ่มอ่อนล้าเลยตัดสินใจลุกไปต้มกาแฟ ในขณะที่พี่ทิพย์ยังคงทำงานต่ออยู่ในโรงละคร

 
ภาพ : เพจ โขนเงาพรหมจักร

ภาพ : เพจ โขนเงาพรหมจักร

 
ภาพ : คณะละครพระจันทร์พนจรฯ

ภาพ : คณะละครพระจันทร์พนจรฯ