ศิลปะกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง

ภาพโดย Coconut Bangkok

ภาพโดย Coconut Bangkok

 

การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในลักษณะ “Networked Protest” เป็นการผุดตัวขึ้นหลายๆ พื้นที่ทั่วของประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลก โดยมีชนวนจุดเริ่มต้นจากการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกและสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีข้อเรียกร้องสามข้อ คือ 1.ยุบสภา 2.ให้หยุดคุกคามประชาชน และ 3.ต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งมีประชาชนทั่วไปหลายช่วงอายุเข้าร่วมการประท้วงเป็นจำนวนมาก

ความน่าสนใจในการประท้วงที่เกิดขึ้นคือ ความคิดสร้างสรรค์ในการส่งสารข้อเรียกร้องต่างๆ ที่ทำให้ทั่วโลกให้ความสนใจอย่างมาก เช่น การชูสามนิ้ว ผูกโบว์ขาวต่อต้านอำนาจนิยมในโรงเรียน การนัดไปชม “สวน” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย การนัดรวมตัวกันเดินร้องเพลงการ์ตูนแฮมทาโร่ การจัดม๊อบแฮรี่ พอตเตอร์ที่พยายามกล่าวถึงคนที่คุณก็รู้ว่าใคร หรือการจัดม็อบมุ้งมิ้งของกลุ่มผู้สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศนัดต่อบทภาพยนตร์หอแต๋วแตกและการใช้ศิลปะ Drag เพื่อผลักดันเรื่องสมรสเท่าเทียมเพิ่มเติมจากข้อเรียกร้องสามข้อ

 
ภาพโดย Real Frame

ภาพโดย Real Frame

 

ความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้ นอกจากเรียกความสนใจจากสายตาทั่วโลกแล้ว การสร้างเสียงหัวเราะยังเป็นอีกหนึ่งวิธีในการต่อสู้กับอำนาจรัฐ เพื่อให้ข้อเรียกร้องของประชาชนบรรลุผลอย่างสันติวิธี แม้ว่าการต่อสู้ในช่วงนี้จะแตกต่างจากบรรยากาศการแสดงออกทางการเมืองในช่วงที่การเมืองไม่ได้เปิดและน่ากลัวเหมือนในช่วงเวลาที่ประเทศถูกปกครองโดยคสช. แต่อารมณ์ขันและความบันเทิงเหล่านี้มันทำให้ผู้ชุมนุมในสายตาสาธารณชนมีความคลุมเครือ ไม่แน่ใจว่ามาจากสีไหน กลุ่มใคร หรือพรรคการเมืองไหนสนับสนุน ทั้งยังทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมที่พวกเขาอยู่ร่วมกับการเมืองในทุกเรื่องที่พวกเขาได้รับและเสียผลประโยชน์ไป

ซึ่งในเวลาเดียวกัน ขณะที่ผู้ชุมนุมต่างพยายามงัดความสร้างสรรค์บันลือโลกต่างๆ มาเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย กลุ่มคนที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการประกอบวิชาชีพอีกกลุ่มหนึ่งอย่างกลุ่มศิลปินก็มีความพยายามเคลื่อนไหวร่วมกับเหตุการณ์ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ไทยนี้ผ่านเครื่องมือศิลปะที่เป็น soft power เพราะศิลปะคือการเมือง การเมืองสะท้อนผ่านงานศิลปะ ดังที่อาจารย์ถนอม ชาภักดี ได้กล่าวไว้ว่า

ศิลปะเกี่ยวข้องกับการเมืองในตัวมันเองอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าคุณจะวิพากษ์วิจารณ์อะไร คุณเขียนงานศิลปะนามธรรมก็เป็นการเมือง มันคือการนิ่งเฉยนั่นเอง หรือคุณจะเขียนพระพุทธรูป ปั้นพระพุทธรูป ก็เป็นการเมืองเพราะคุณเล่นกับความศรัทธา ดังนั้นศิลปะกับการเมืองแยกออกจากกันไม่ได้ตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว พื้นที่ศิลปะคือพื้นที่ประชาธิปไตยในตัวมันเอง เพราะมันมีอิสรภาพในการแสดงออกทางความรู้สึก ฉะนั้นศิลปะจึงเป็นพื้นที่ในการต่อสู้ทางการเมือง เป็นพื้นที่ในการต่อรองทางการเมืองมาโดยตลอด ไม่ว่าจะในรูปแบบของงานวรรณกรรม ละคร หรือดนตรีก็ตาม
— อาจารย์ถนอม ชาภักดี
 

ศิลปะเพื่อสื่อสารประเด็นทางสังคมการเมืองมิใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด อย่างที่เราได้เห็นกันมาตลอด ผ่านภาพวาด กราฟฟิตี้ ศิลปะจัดตั้ง ประติมากรรม ดนตรี ละครเวที และการแสดงในขนบต่างๆ ล้วนถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม รวมทั้งการชุมนุมประท้วง ในยุคสว่างไสวทางปัญญา เดอนี ดีเดอโร (Denis Diderot) ก็มุ่งหวังให้ผู้ชมละครได้ซึมซับทักษะในการวิพากษ์สังคม การเมืองและวัฒนธรรม ให้พื้นที่การแสดงเป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างความรื่นรมย์แห่งศิลปะกับหน้าที่พลเมือง ยิ่งไปกว่านั้น กล่าวกันว่าศิลปะยังเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังไม่น้อยในการประท้วงที่ไม่ใช้ความรุนแรง ดังคำกล่าวของเอากูซตู บูอัล (Augusto Boal) นักการละครชาวบราซิล ผู้เป็นเสมือนบิดาแห่งละครผู้ถูกกดขี่ (Theatre of the Oppressed) ได้กล่าวในบทสัมภาษณ์หนึ่งอย่างน่าสนใจว่า

คุณมีความคิด คุณมีข้อความ เราไม่มีข้อความ เรามีแต่คำถาม เรานำติดตัวมาด้วยซึ่งคำถามว่าคุณสามารถทำอะไร และด้วยวิถีประชาธิปไตย ทุกคนสามารถหยุดและกระโดดเข้ามาในฉาก และทดลองนำเสนอทางออกและทางเลือก จากนั้นเราก็จะอภิปรายทางเลือกนั้น รวมถึงทางเลือกอื่นๆ ตามจำนวนของผู้ที่อยู่ที่นั่น
— Democracynow, 2005
 

คุณค่าของการใช้ศิลปะเพื่อการแสดงทางการเมืองยังเป็นการสร้างระบอบอารมณ์ความรู้สึกร่วมกันในสังคม ตามการศึกษาของวิลเลียม เรดดี้ (William M. Reddy) ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยาวัฒนธรรมแห่งมหาวิทยาลัยดุ๊ก (Duke University) กล่าวว่า

อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลที่เกิดขึ้นมาอย่างลอยๆ หรือเป็นแค่ปฏิกิริยาต่อสถานการณ์เฉพาะหน้า แต่มีมาตรฐานบางอย่างในสังคมและวัฒนธรรมกำกับอยู่ เราจะได้รับอนุญาตให้รัก เกลียด ภูมิใจ ดีใจ เสียใจ กับอะไร และอย่างไร ไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์ แต่มีโครงสร้างอำนาจที่กำหนดแบบแผน มีการให้รางวัลหรือเกียรติยศ และมีการลงโทษต่างๆ แก่คนที่ละเมิดแบบแผนหรือมาตรฐานทางอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้น
 

เรดดี้แสดงให้เห็นว่าระบอบอารมณ์ความรู้สึกหลักในสังคมทำให้เกิดความทุกข์ทนทางอารมณ์ความรู้สึก เครื่องมือศิลปะจึงเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ทรงพลังในการสร้างระบอบอารมณ์ความรู้สึกใหม่ที่ก่อตัวขยายออกและปลดปล่อยความทุกข์ทนทางอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้นไปสู่สังคมวงกว้างทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมครั้งใหญ่

 
ภาพโดย Real Frame

ภาพโดย Real Frame

 

ทั้งนี้การใช้ศิลปะในการเคลื่อนไหวทางการเมืองคือยังทำให้สังคมมี ‘ที่พักพิงทางอารมณ์ความรู้สึก’ ที่ทำให้คนมีอิสรภาพ เสรีภาพในการแสดงออก และความเสมอภาคกับคนอื่นๆ คล้ายกับการออกไปนั่งคุยกันในวงเล็กๆ คือที่ลี้ภัยทางอารมณ์ความรู้สึกของคนฝรั่งเศสที่ต้องทุกข์ทนทางอารมณ์ความรู้สึกจากระบบเกียรติยศและการที่จะต้องพยายามทำตามมาตรฐานทางอารมณ์ความรู้สึกที่ราชสำนักสร้างขึ้น แล้วอารมณ์ความรู้สึกในพื้นที่เล็กๆ ที่พวกเขาคุยกันผ่านกิจกรรมต่างๆ รวมถึงศิลปะก็ขยายออกไปในสังคมวงกว้าง เกิดเป็นระบอบอารมณ์ความรู้สึกใหม่ที่นำไปสู่การปฏิวัติใน ค.ศ.1789

  ดังนั้นแล้วความสำคัญของการใช้ศิลปะเพื่อการขับเคลื่อนสังคมการเมืองไม่ได้ผูกขาดกับศิลปินที่จบจากสถาบันศิลปะเท่านั้น แต่ศิลปะเป็นเสมือนเครื่องมือเพื่อสร้างพื้นที่ให้ประชาชนทุกคนในสังคมได้ปลดทุกข์ ตกตะกอนทางความรู้สึกและความคิด เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนฝันร่วมกับผู้อื่นอย่างเห็นอกเห็นใจ เสริมพลังใจด้วยความเชื่อในศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคน ทั้งยังปลดปล่อยเสียง สิทธิเสรีภาพของตัวเองอย่างอิสระ ที่สามารถส่งต่อพลังปัญญาและจินตนาการใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่เป็นเสียงเดียวกับมวลชน

 

อ้างอิง

 

ผู้เขียน: ธนุพล ยินดี

นักการละคร ผู้ก่อตั้งเครือข่ายนักการสื่อสารละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง และ เทศกาลละคร Act up Chiangmai