ละครไทยรับมือกับ COVID-19 อย่างไรดี

ข้อมูล ณ วันที่ 24 มีนาคม 2563

งดกิจกรรมรวมคนจำนวนมากที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่มีจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกินกว่า 100 คน ถ้าเข้าร่วมกิจกรรมก็จะมีมาตรการเช่น จะต้องนั่งห่างกันไม่น้อยกว่าระยะ 1 เมตร จะต้องทำการขออนุญาตจากเจ้าพนักงาน ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
— อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (17 มีนาคม 2563)
ให้สถานศึกษาทุกแห่งของรัฐและเอกชน ทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งอยู่ในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ ตั้งแต่วันพุธที่ 18 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการประกาศเปลี่ยนแปลง [...] ทั้งนี้ ให้สถานศึกษาจัดให้มีการเรียนการสอนด้วยการไม่ต้องเข้าชั้นเรียน โดยปรับการเรียนการสอนเป็นทางออนไลน์
— ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (17 มีนาคม 2563)
 

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID19 - โควิด19) ที่กำลังระบาดอย่างหนักส่งผลกระทบไปทั่วโลก แน่นอนว่าศิลปะละครเวทีไทยร่วมสมัยย่อมได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากละครเวทีเป็นศิลปะการแสดงสดในที่ประชุมชน มูลนิธิละครไทยเป็นห่วงชุมชนละครเวทีไทยร่วมสมัยเป็นอย่างยิ่ง จึงได้รวบรวมมาตรการและคำแนะนำสำหรับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชุมชนของเรา ได้แก่

  1. บุคคลทั่วไป

  2. โรงละครและคณะละคร

  3. สถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนด้านละครเวทีร่วมสมัย

 

บุคคลทั่วไป

อาการ

  • สังเกตอาการตนเอง หากมีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ํามูก หายใจลำบากให้ไปพบแพทย์ทันทีพร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง

  • หลีกเลี่ยงคลุกคลีผู้มีอาการป่วย รักษาระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร

  • กักบริเวณตนเองด้วยความสมัครใจเป็นเวลา 14 วันหากบุคคลในบ้านมีอาการระบบทางเดินหายใจ

ไอ จาม

  • ปิดปากและจมูกด้วยทิชชูทุกครั้งที่ไอหรือจาม ทิ้งทิชชูลงถังขยะ 

info37.jpg

ล้างมือ

  • ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อย 20 วินาที โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังใช้ห้องน้ำ ก่อนทานอาหาร และหลังไอ จาม หรือสั่งน้ำมูก

  • หากไม่มีสบู่ ให้ล้างมือด้วยน้ำยาแอลกอฮอล์ 70%

info41.jpg

ตา จมูก ปาก

  • ไม่สัมผัสบริเวณตา จมูก และปากโดยไม่ได้ล้างมือ

ทำความสะอาด

  • ทำความสะอาดสิ่งของและผิวสัมผัสต่างๆ ที่จับต้องบ่อย อย่างน้อยวันละ 1 - 2 ครั้ง

หน้ากากอนามัย

  • หากไม่มีอาการระบบทางเดินหายใจ ไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย 

  • หากมีอาการระบบทางเดินหายใจ ควรสวมหน้ากากอนามัย

  • อาจสวมหน้ากากอนามัยเมื่อเดินทางไปพื้นที่เสี่ยงหรืออยู่ในที่ชุมชน เช่น โรงละคร เพื่อป้องกันตัวเอง

  • หันด้านที่มีสีออก หากไม่มีสี หันด้านที่รอยพับชี้ลงล่างออก ด้านที่มีลวดอยู่ด้านบน ดึงหน้ากากอนามัยให้ครอบคลุมทั้งจมูกและปาก

  • หน้ากาก N95 สำหรับกันฝุ่นไม่สามารถใช้ในทางการแพทย์ได้

พื้นที่เสี่ยง

  • ข้อมูล ณ วันที่ 2 มีนาคม 2563 ท้องท่ีนอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย ได้แก่

    • เกาหลีใต้

    • จีน

    • มาเก๊า

    • ฮ่องกง

    • อิตาลี

    • อิหร่าน

  • งดหรือเลื่อนการเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง

  • หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรมีประกันสุขภาพระหว่างเดินทาง สวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด และปฏิบัติตามคําแนะนําของประเทศนั้นๆ อย่างเคร่งครัด

  • ก่อนเดินทางกลับ แจ้งให้เจ้าหน้าที่สายการบินทราบล่วงหน้าหากมีอาการป่วย สายการบินอาจพิจารณาไม่ให้ขึ้นเครื่องบินหากมีอาการป่วยและไม่มีใบรับรองแพทย์

  • เมื่อกลับเข้าประเทศแล้ว ให้ความร่วมมือกับการตรวจคัดกรองที่ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบทันทีหากมีอาการป่วย

  • สังเกตอาการและวัดไข้ตนเองทุกวันหลังกลับมาเป็นเวลา 14 วัน อาจกักบริเวณตนเองด้วยความสมัครใจ แยกเครื่องใช้ส่วนตัว แยกห้องนอนและห้องน้ำ รับประทานอาหารร่วมกันได้แต่ต้องใช้ช้อนกลางทุกครั้ง งดคลุกคลีใกล้ชิดผู้อื่น งดไปสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก เช่น โรงละคร ตลาด ห้างสรรพสินค้า อยู่ในที่พักอาศัยเป็นหลัก ออกนอกบ้านเท่าที่จําเป็น

  • หยุดงาน ลางาน หรือทํางานจากบ้านตามความเหมาะสมของหน่วยงานของท่าน

  • หากมีไข้ ไอ เจ็บคอ หรือมีน้ํามูกภายใน 14 วันหลังเดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง ควรไปพบแพทย์ทันทีพร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง

  • หากจำเป็นควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา

 

โรงละครและคณะละคร

  • พิจารณาปรับเปลี่ยนรูปแบบ เลื่อน หรืองดการจัดแสดงละคร อย่างน้อยจนถึง 1 เมษายน 2563 หรือจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายเพื่อมิให้ขัดต่อประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

  • ประชุมทีมงานผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์แทนการเดินทางมาประชุมในสถานที่เดียวกัน

  • จัดทำนโยบายคืนเงินที่ชัดเจนและแจ้งให้ผู้ซื้อบัตรทราบโดยทั่วถึง โรงละครและคณะละครอาจเลือกคืนเงิน หรือให้เครดิตสำหรับชมละครในครั้งถัดไปเพื่อให้ผู้ชมที่มีอาการป่วยตัดสินใจอยู่บ้านได้ง่ายขึ้น หรือแนะนำให้ผู้ชมบริจาคค่าตั๋วเพื่อช่วยเหลือคณะละครในยามวิกฤต

  • หากมีประกันภัยอยู่แล้ว โรงละครหรือคณะละครอาจได้รับความคุ้มครองในขณะปิดดำเนินการในสภาวะฉุกเฉิน กรุณาติดต่อตัวแทนประกันของท่านเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

  • ประชาสัมพันธ์วิธีป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคให้ทีมงานทราบ

  • โรงละครและคณะละครสามารถขอคำปรึกษาทางการแพทย์ได้จากโรงพยาบาลในพื้นที่ ศูนย์ป้องกันควบคุมโรคเขต หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

info29.jpg
 

สถานศึกษา

  • ทำความสะอาดสถานที่และดำเนินการป้องกันโรคตามมาตฐานของกระทรวงสาธารณสุขและนโยบายของหน่วยงานของตนอย่างเคร่งครัด เจ้าหน้าที่ทำความสะอาดควรสวมหน้ากากอนามัย หมวกคลุมผม แว่นตากันลม ถุงมือยาว รองเท้าบูท และผ้ากันเปื้อนพลาสติก

  • เตรียมความพร้อมเรื่องหลักสูตรการเรียนทางไกลสำหรับนักเรียน นักศึกษาระหว่างปิดสถานศึกษา

  • จัดทำแผนฉุกเฉินและข้อมูลติดต่อในกรณีที่พบผู้ป่วยจํานวนมากในสถานศึกษาไว้ให้พร้อม

  • ประสานกับหน่วยงานสาธารณสุขของสถานศึกษา (ถ้ามี) และโรงพยาบาลใกล้เคียงเพื่อขอแนวทางปฏิบัติ ข้อมูลความรู้ และช่องทางติดต่อในกรณีฉุกเฉิน

  • จัดเตรียมสบู่ น้ำยาล้างมือแอลกอฮอล์ 70% และหน้ากากอนามัยพร้อมใช้ในสถานศึกษา

  • อาจกำหนดพื้นที่ตรวจคัดกรองอาการป่วยก่อนเข้าอาคารหรือโรงละคร ควรเป็นพื้นที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก ควรจัดเตรียมเครื่องวัดอุณหภูมิแบบมือถือ (Handheld thermometer) และถุงมือไว้ด้วย

 
 

ข้อจำกัดความรับผิด

การให้ข้อมูลของมูลนิธิละครไทยแก่ท่านนั้นไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลโดยตัวแทนหรืออาสาสมัครของมูลนิธิละครไทยที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์ใดๆ จากการให้ข้อมูลดังกล่าว และเป็นเพียงแต่แนวทางและคำแนะนำเท่านั้น 

เมื่อท่านนำคำแนะนำใดๆ จากมูลนิธิละครไทยไปปฏิบัติ ท่านได้ยอมรับในข้อกำหนดและเงื่อนไขว่าการกระทำหรือตัดสินใจใดๆ ของท่านไม่ว่าโดยอาศัยข้อมูลจากมูลนิธิละครไทยหรือไม่ก็ตาม เป็นความเสี่ยงและอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของท่านหรือองค์กรของท่านเองทั้งสิ้นทุกประการโดยรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น และท่านยอมรับว่ามูลนิธิละครไทยไม่มีส่วนต้องรับผิดใดๆ ต่อท่านหรือบุคคลใดๆ ในความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมจากเหตุใดๆ รวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงเนื้อหานั้นไม่ถูกต้อง ผิดพลาด ไม่ครบถ้วน ไม่สมบูรณ์ ถูกลบ หรือถูกแก้ไข