กรณีศึกษาสถาบันปรีดี พนมยงค์: ไม่ใช่แค่เงิน VS อุดมการณ์ แต่คำถามคือทำอย่างไรถึงจะรักษาไว้ได้ทั้งสองอย่าง

 

ไม่ใช่แค่เงิน VS อุดมการณ์ แต่คำถามคือทำอย่างไรถึงจะรักษาไว้ได้ทั้งสองอย่าง

ความท้าทายที่องค์กรไม่แสวงหากำไรต้องเผชิญคือการหาสมดุลระหว่างการหารายได้เพื่อปฏิบัติงานและการไปให้ถึงอุดมการณ์ ผลลัพธ์สุดท้ายของการจัดการ (Bottom Line) อาจเอียงไปทางใดทางหนึ่งหรือเป็นตาชั่งที่เท่ากันก็ได้ การตัดสินใจของมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ (ผู้กำกับดูแลสถาบันปรีดี พนมยงค์) ทำให้เห็นว่าทางมูลนิธิฯ ให้น้ำหนักไปที่การหารายได้เพื่อดำเนินกิจกรรมต่อไปอย่างยั่งยืนโดยยอมลดพื้นของตนเองลง กลุ่มทะลุฟ้าจึงตั้งคำถามว่าพื้นที่ใหม่ที่ลดลงมากจะยังทำให้สถาบันฯ ทำตามเจตนารมณ์เดิมได้อยู่หรือไม่ ในแง่ของการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ของประชาชน ทั้งสองมุมมองได้เปิดทางไปสู่คำถามใหม่ นั่นคือทำอย่างไรเราถึงจะรักษาไว้ได้ทั้งสองอย่าง


กรณีศึกษาสถาบันปรีดี พนมยงค์: ไม่ใช่แค่เงิน VS อุดมการณ์ แต่คำถามคือทำอย่างไรถึงจะรักษาไว้ได้ทั้งสองอย่าง

เมื่อเอ่ยถึงทองหล่อ ภาพแรก ๆ ที่โผล่มาในห้วงคำนึงน่าจะเป็นภาพบ้านและคอนโดของผู้ที่มีฐานะดี ไม่ว่าจะเป็นผู้ดีเก่าหรือเศรษฐีใหม่ นอกจากนี้ยังมีชาวต่างชาติมากมายอาศัยอยู่ ส่งผลให้มีร้านอาหารและสถานบันเทิงมากมาย ที่ดินในบริเวณนี้จึงมีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไม่ต้องสงสัย แต่สิ่งที่คนจำนวนมากยังไม่รู้คือซอยสุขุมวิท 55 หรือซอยทองหล่อแห่งนี้มีสถานที่ที่วางตัวเป็นเวทีทางศิลปวัฒนธรรมสำหรับทุกคนอยู่ นั่นคือ สถาบันปรีดี พนมยงค์ที่มีเนื้อที่ถึง 371 ตารางวา ซึ่งครูองุ่น มาลิก ผู้ก่อตั้งมูลนิธิไชยวนาบริจาคให้เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2526 เนื่องจากเลื่อมใสศรัทธาในอุดมการณ์ของอาจารย์ปรีดี พนงยงค์ ครูองุ่นร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 10 ธันวาคม 2531 ก่อนที่สถาบันปรีดี พนงยงค์จะเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2538 มาจนถึงปัจจุบัน

 

ครูองุ่น มาลิก กับ หุ่นผ้าขี้ริ้ว คณะละครหุ่นครูองุ่น (ภาพ : มูลนิธิไชยวนา)

 

จนกระทั่งวันที่ 1 มกราคม 2565 มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ และสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้เผยแพร่เอกสาร "สารอวยพรปีใหม่ 2565" ลงในหน้า Facebook Page ของสถาบันฯ ว่าได้ตกลงเซ็นสัญญาให้เช่าที่ดินกับบริษัท ยูโร ครีเอชั่นส์ จำกัดเพื่อพัฒนาโครงการอาคาร 7 ชั้น บนที่ดินเดิมซึ่งจะประกอบไปด้วยโชว์รูมและสำนักงานให้เช่า และจะยกพื้นที่ของสถาบันปรีดีฯ ไปอยู่บนอาคารชั้น 6 และ 7 แทน ต่อมากลุ่มทะลุฟ้าจึงได้โพสต์จดหมายเปิดผนึกถึงคณะกรรมการมูลนิธิปรีดี พนมยงค์เพื่อขอให้มีการชะลอรื้อถอน เนื่องจากเห็นว่าการกระทำดังกล่าวผิดวัตถุประสงค์จากพินัยกรรมของครูองุ่น มาลิก ที่ระบุว่า

ข้าพเจ้าหวังว่าบุคคลรุ่นหลังผู้มีจิตใจเสียสละเพื่อสังคม จะเข้ารับภาระสืบทอดดำเนินการกิจกรรมในที่ดินแห่งนี้ จักมีความคิดก้าวไกล สามารถขยายงานรับใช้สังคมได้ในวงกว้างยิ่งขึ้นสืบไป และถือเป็นภาระหมายเลขหนึ่ง ในอันที่จะสงวนรักษาผืนแผ่นดินแห่งนี้มิให้ตกไปเป็นที่รับใช้กิจการอย่างอื่นในเชิงธุรกิจเต็มรูปแบบเช่นให้บุคคล หรือกลุ่มบุคคลมาลงทุน
 

และตั้งคำถามว่าพื้นที่เพียงแค่ 2 ชั้นจะเพียงพอสำหรับทำตามวัตถุประสงค์ของสถาบันปรีดี พนมยงค์หรือไม่ นำไปสู่การปักหลักค้างคืนบริเวณหน้าสถาบันฯ เพื่อเรียกร้องให้ชะลอการรื้อถอนและเปิดเวทีรับฟังสาธารณะจนกระทั่งบรรลุข้อตกลงหลังผ่านไป 9 วันเต็ม

ประเด็นของสถาบันปรีดี พนงยงค์ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับเรื่องการจัดการองค์กรไม่แสวงหากำไร (Nonprofit Organization) องค์กรไม่แสวงหากำไรเป็นส่วนหนึ่งของภาคประชาสังคม (Civil Society หรือ Third Sector) ซึ่งไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล จึงมีความยืดหยุ่นคล่องตัวและมีศักยภาพที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผ่านการร่วมมือระหว่างภาคประชาสังคมและภาครัฐ แต่ความท้าทายที่องค์กรไม่แสวงหากำไรต้องเผชิญคือการหาสมดุลระหว่างการหารายได้เพื่อปฏิบัติงานและการไปให้ถึงอุดมการณ์ ซึ่งอาจเป็นพันธกิจ เป้าหมาย วัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ของตนที่ได้เคยประกาศไว้ ผลลัพธ์สุดท้ายของการจัดการ (Bottom Line) อาจเอียงไปทางใดทางหนึ่งหรือเป็นตาชั่งที่เท่ากันก็ได้

 

ภาพจาก The Momentum

 

หากเปรียบเป็นละครเวทีหรือการแสดงเพื่อให้เห็นภาพง่ายขึ้น กรณีนี้คงไม่ต่างจากการกำหนดค่าบัตรของละครเวทีเรื่องหนึ่ง ค่าบัตรที่สูงทำให้มีเงินหมุนเวียนในโปรดักชั่นมากขึ้น สามารถเช่าสถานที่แสดงใหญ่ขึ้นและอยู่ในทำเลที่ผู้ชมมาได้สะดวกขึ้น คณะละครสามารถลงทุนกับด้านศิลป์ได้มากขึ้น ฉาก แสง และเสียงเต็มที่ได้มากขึ้น จ่ายค่าตัวให้นักแสดงและทีมงานได้มากขึ้น และอาจพอจะมีกำไรเหลือเป็นเงินขวัญถุงเก็บไว้ทำงานเรื่องต่อไป แต่ในขณะเดียวกัน บัตรราคาสูงก็จำกัดการเข้าถึง ทำให้คนบางกลุ่มไม่สามารถมาสัมผัสละคร/การแสดงนี้ได้เช่นกัน เช่น ผู้มีรายได้น้อยหรือนักเรียน/นักศึกษาที่มีงบประมาณจำกัด ซึ่งเขาเหล่านั้นอาจเป็นกลุ่มคนที่ละคร/การแสดงนี้ต้องการจะสื่อสารด้วย อีกทั้งยังอาจทำให้เกิดภาพจำว่าละคร/การแสดงนั้นเป็นสิ่งที่แพงและเฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าถึงได้ ในทางตรงกันข้าม หากตั้งราคาบัตรไม่สูงนัก มีโอกาสเข้าถึงคนหลายกลุ่มมากขึ้น แต่ก็นำไปสู่รายได้ที่น้อยลง ค่าแรงที่อาจไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ ต่ำกว่าค่าจ้างเพื่อชีวิต และไม่สามารถลงทุนสร้างภาพในจินตนาการออกมาได้อย่างเต็มที่ ทั้งยังไม่ต้องพูดถึงกำไรและเงินตั้งต้นสำหรับทำผลงานเรื่องต่อไปที่ดูจะเกินเอื้อม

ในกรณีของสถาบันปรีดี พนมยงค์ เมื่อมีเจตนารมณ์ที่ต้องสืบสาน การบริหารจัดการนั้นก็มีต้นทุนที่ต้องใช้จ่าย การหารายได้ขององค์กรไม่แสวงหากำไรนั้นอาจมาจากการสนับสนุนของรัฐบาล การบริจาคจากภาคประชาสังคม การหารายได้ด้วยตัวเองผ่านการเปิดเช่าพื้นที่ทำกิจกรรม การจัดทำสินค้าจำหน่าย หรือการจัดงานระดมทุนต่าง ๆ ซึ่งทางสถาบันฯ ออกมาแถลงเหตุผลของการตัดสินใจในครั้งนี้ว่า หลังผ่านเวลามากว่า 20 ปี สถาบันฯ ประสบปัญหาการขาดแคลนเงินทุนในการดูแลตัวอาคารที่เสื่อมโทรมไปจากการใช้งาน ประกอบกับในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รายได้จากเงินบริจาคลดลงมากและมีข้อจำกัดในเรื่องการระดมทุนหารายได้ ทางคณะกรรมการฯ จึงได้หาทางออกเพื่อให้สถาบันปรีดีฯ ไม่ต้องปิดตัวลง ด้วยวิธีการเปิด TOR ให้เอกชนยื่นข้อเสนอพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบ BOT (Build Operate Transfer) โดยสถาบันปรีดีฯ ภายใต้มูลนิธิปรีดีฯ ได้ทำหนังสือลงวันที่ 21 เมษายน 2563 ถึงมูลนิธิไชยวนา (สวนครูองุ่น) ซึ่งมีพื้นที่ติดกันให้รับทราบว่าโครงการพัฒนาพื้นที่สถาบันปรีดีฯ จะเป็นอาคารสูง 7 ชั้น และขอความคิดเห็นแล้ว ซึ่งทางมูลนิธิไชยวนาก็ไม่ขัดข้องตราบเท่าที่ไม่ขัดกับเจตนารมณ์ของครูองุ่นและวัตถุประสงค์ของมูลนิธิไชยวนาตามข้อบังคับและตราสารที่ได้จดทะเบียนไว้

นี่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครั้งแรกของสถาบันปรีดี พนงยงค์ ย้อนกลับไปในปี 2560 สถาบันปรีดี พนมยงค์เคยประกาศปิดปรับปรุงมาแล้วครั้งหนึ่งและมีการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบาย ส่งผลให้ละครโรงเล็กถึงสามแห่งที่ตั้งอยู่ภายในจำต้องย้ายออกไป เช่น Crescent Moon Space หรือโรงละครพระจันทร์เสี้ยว ที่เปิดแสดงครั้งแรกในปี 2550 ห้องของคณะละคร B-Floor ซึ่งอยู่มาตั้งแต่ปี 2552 และ FoFo Hut ที่เปิดตัวในปี 2557 น่าสังเกตว่าในครั้งนั้นไม่เกิดการเรียกร้องและท้วงถาม อาจเพราะไม่มีการประกาศเปลี่ยนแปลงตัวอาคารอย่างมโหฬารและไม่ปรากฎการร่วมมือกับเอกชนเหมือนในครั้งนี้ อีกทั้งความตื่นตัวทางด้านการเมืองและสังคมของประชาชนเมื่อห้าปีก่อนนั้นก็ต่างกับในปัจจุบันอย่างมาก

 

ภาพจาก Voice TV

 

จากการตัดสินใจทั้งสองครั้งของสถาบันปรีดี พนมยงค์ทำให้เราลงความเห็นได้ว่าทางสถาบันฯ ให้น้ำหนักผลลัพธ์สุดท้ายของการจัดการ (Bottom Line) ไปที่การหารายได้เพื่อดำเนินกิจกรรมต่อไปอย่างยั่งยืนโดยดำเนินการผ่านการประชุมภายในของผู้บริหารมูลนิธิฯ ไปสู่ข้อตกลงว่าจะยอมลดพื้นที่การทำกิจกรรมของตนเองลง ในขณะที่อีกด้าน กลุ่มทะลุฟ้าเรียกร้องให้สถาบันปรีดี พนมยงค์เปิดเผยข้อมูลและชี้แจงต่อสาธารณะ เมื่อได้ทราบข้อมูลบางส่วนแล้วจึงตั้งคำถามว่าอาคารใหม่ที่จะสร้างนั้นจะมีพื้นที่ของสถาบันฯ อยู่บริเวณชั้น 6 และ 7 ขนาดพื้นที่รวมประมาณ 600 ตรม. ซึ่งคิดเป็นเพียง 5.8% จากพื้นที่ใช้สอยทั้งหมดของตึกที่จะสร้างใหม่ จึงเกิดข้อสงสัยว่าสัดส่วนพื้นที่จำนวนเพียงเท่านี้จะยังทำให้สถาบันฯ ทำตามเจตนารมณ์เดิมได้อยู่หรือไม่ อีกทั้งการเข้ามาบริหารงานโดยภาคธุรกิจ และการไม่ได้อยู่ชั้นล่างติดถนนเหมือนแต่ก่อนทำให้ภาพลักษณ์สถาบันฯ อาจไม่ได้ดูเปิดรับทุกคนและเข้าถึงยากกว่าอาคารเดิม ในแง่นี้ ข้อโต้แย้งของทะลุฟ้าจึงเป็นมุมมองที่เน้นไปยังหน้าที่และเจตนารมณ์ของพื้นที่ นั่นคือการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ของประชาชน และเสนอให้เปิดเวทีพูดคุยในวันที่ 14 พ.ค.นี้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนการตัดสินใจรื้อและสร้างอาคารใหม่ 

ประเด็นขัดแย้งนี้คล้ายคลึงกับกรณีที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน (Metropolitan Museum of Art) หรือ “เดอะ เมท” (THE MET) ที่เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ตัดสินใจขายผลงานศิลปะจำนวนหนึ่งในคลังสะสมเพื่อเอามาใช้จ่ายระหว่างวิกฤตโควิด-19 ที่ทางพิพิธภัณฑ์ไม่สามารถเปิดได้จนขาดรายได้มหาศาลทั้งจากการการขายบัตรเข้าชม ขายสินค้าและการจัดกิจกรรม แต่ก็มีข้อโต้แย้งจากผู้ไม่เห็นด้วย เช่น โธมัส แคมเบลล์ (Thomas Campbell) อดีตผู้อำนวยการของเดอะ เมทที่ชี้ว่าการขายผลงานศิลปะของพิพิธภัณฑ์นั้นไม่ควรทำให้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเพราะจะส่งผลกระทบในระยะยาว เป็นการสร้างนิสัยให้พิพิธภัณฑ์หาทางออกด้วยการขายงานศิลปะซึ่งจะลดจำนวนศิลปะสะสมในคลังที่สาธารณชนควรมีโอกาสได้รับชมไป

ผู้เขียนอดคิดไม่ได้ว่า หากรัฐตั้งใจจะสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ (Soft power) จริง ๆ ไม่ได้เพียงพูดตามกระแส รัฐก็ย่อมต้องลงทุนกับศิลปะและวัฒนธรรมให้มากและคงพร้อมสนับสนุนจะให้พื้นที่อย่างสถาบันปรีดี พนมยงค์อยู่ต่อไป อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ใช่ความเป็นจริงในประเทศนี้

สุดท้ายแล้ว ผู้เขียนเพียงต้องการชี้ให้เห็นถึงมุมมองอันแตกต่างและความเป็นไปได้ที่ทั้งสองฝ่ายจะปรึกษาหารือกันทั้งเรื่องความมั่นคงทางการเงินและการทำประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งไม่ใช่คู่ตรงข้ามที่ต้องเลือกไปด้านใดด้านหนึ่งจนละเลยอีกด้าน ผู้เขียนเชื่อว่าทั้งสถาบันปรีดี พนมยงค์และกลุ่มทะลุฟ้าก็ตระหนักถึงความสำคัญของทั้งสองสิ่งนี้ หวังอย่างยิ่งว่าจะในอนาคตอันใกล้ จะได้เห็นการแลกเปลี่ยนและทำงานร่วมกันเพื่อตอบคำถามใหม่ที่ท้าทายกว่า ซึ่งเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบตายตัว ผ่านการระดมสมองและเปิดเวทีรับไอเดีย อาจมีโมเดลรูปแบบใหม่ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนมาเป็นคำตอบให้กับปัญหานี้ก็ได้

 
 

ผู้เขียน

นัทธมน เปรมสำราญ

เป็นนักเขียน นักแปลและศิลปินอิสระ จบการศึกษาด้านศิลปการละครและทฤษฎีศิลป์ เขียนเรื่องสั้นด้วยนามปากกา ปอ เปรมสำราญและเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มละคร Circle Theatre Bangkok มีความสนใจด้านการเขียนเกี่ยวกับศิลปะ (Art writing) และวัฒนธรรมประชานิยม (Popular culture) www.nuttamonpramsumran.com