Chiang Mai Theatre Series: บันทึกบทสนทนา “ละคร ปรากฏการณ์สังคม กับเสียงคนรุ่นใหม่”

นลธวัช มะชัย : เรื่อง

ภาพ : เพจ Act Up Chiangmai

ภาพ : เพจ Act Up Chiangmai

ปลายปีที่แล้วผมมีโอกาสเป็นผู้ดำเนินรายการเวทีเสวนา ละคร ปรากฏการณ์สังคม กับเสียงคนรุ่นใหม่ ในเทศกาลละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงเชียงใหม่ ครั้งที่ 1 Act Up : Chiangmai Transformative Theatre Festival วันที่ 2 พฤศจิกายน 2562  

เทศกาลละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงเชียงใหม่ ครั้งที่ 1 คือพื้นที่ศิลปะการแสดงละคร ที่จัดขึ้นโดยเครือข่ายกลุ่มละคร 8 กลุ่มในเชียงใหม่ โดยมีมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) เป็นพี่เลี้ยง มีเอกลักษณ์คือการให้ความสำคัญกับคุณค่าความงามของสุนทรียศิลป์ กับการขับเคลื่อนประเด็นปัญหาสังคม โดยคาดหวังการเปลี่ยนแปลงทั้งระดับบุคคล ระดับชุมชนและสังคม 

เทศกาลนี้จึงมุ่งเน้นในการสร้างผู้นำนักการสื่อสารละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง ใช้ระยะเวลามากกว่า 8 เดือน ตั้งแต่กระบวนการเรียนรู้ละคร สร้างงาน จนถึงออกจัดแสดง 

โดยการฝึกทักษะการทำงานละครสร้างสรรค์ เทคนิคการแสดงต่างๆ พัฒนาความรู้ความเข้าใจในการคิดวิเคราะห์ จับประเด็นปัญหาที่สนใจทั้งในชุมชนหรือสังคมอย่างเป็นระบบ ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถนำเสนอทางออกเพื่อแก้ไขปัญหานั้นผ่านกระบวนการละคร จัดการแสดงละคร และมารวมตัวแสดงร่วมกันอีกครั้งในเทศกาลละครเชียงใหม่ครั้งนี้ 

เป็นโอกาสดีที่เราจะมาคุยกับคนที่ขับเคลื่อนงานละครในเชียงใหม่และขับเคลื่อนงานศิลปะด้านอื่นๆ เครือข่ายผู้จัดเทศกาลเปิดวงเสวนาชื่อ ‘ละคร ปรากฏการณ์สังคม กับเสียงคนรุ่นใหม่’ โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบไปด้วย 



  1. คุณนันท์ณิชา ศรีวุฒิ ผู้ประสานงานโครงการ Human ร้าย Human wrong จากร้านหนังสือ Book Re:public เชียงใหม่

  2. คุณธนุพล ยินดี หัวหน้าโครงการนักการสื่อสารการละคร Act Up : Chiangmai Transformative Theatre Project 1st  มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม)

  3. อ.แววดาว ศิริสุข อาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปะการดนตรีและการแสดง ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

  4. อ.คำรณ คุณะดิลก ผู้ก่อตั้งคณะละครพระจันทร์เสี้ยวการละคร อดีตอาจารย์ผู้สอนศิลปะการแสดง คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

  5. ผู้ช่วยศาสตรจารย์สมเกียรติ รุ่งเรืองวิริยะ ฝ่ายพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำหรับเด็กและเยาวชน กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ดำเนินรายการโดยผม นลธวัช มะชัย สมาชิกกลุ่มลานยิ้มการละคร 


ผมเข้าใจเอาเองว่าวงการละครเชียงใหม่ควรมีคนบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นไว้บ้าง ทั้งในมิติเหตุการณ์ทั่วไป การวิพากษ์วิจารณ์ พัฒนาการ หรือแม้กระทั่งการทะเลาะวิวาทวิวาทะกันในวงการละคร เพื่อเป็นประโยชน์กับการศึกษาประวัติศาสตร์วงการละครเชียงใหม่ไม่มากก็น้อยในอนาคต

ผมคิดว่านี่เป็นหมุดหมายที่ดีในการบันทึกวงการละครเชียงใหม่ยุคปัจจุบัน

และต่อไปนี้คือบทสนทนาที่เกิดขึ้นวันนั้นครับ

 

นลธวัช มะชัย :

ผมขอเริ่มที่ผู้ร่วมเสวนาคนแรก พี่บัว นันท์ณิชา ศรีวุฒิ ผู้ประสานงานโครงการ Human ร้าย Human wrong ซึ่งปีนี้โครงการก็เป็นปีที่ 3 แล้ว ใครอยู่ในเชียงใหม่หรือเคยได้ยินข่าวนี้จากหน้าสื่อก็จะเห็นนะครับว่าทางร้านหนังสือ Book Re:public มีโครงการหลายโครงการมาก หนึ่งในนั้นก็คือโครงการ Human ร้าย Human wrong ซึ่งทำงานศิลปะร่วมสมัย ถ่ายทอดเรื่องราวหลากมิติหลายเฉดสีของความเป็นมนุษย์ในบริบททางสังคม

ปีนี้มีผลงานจัดแสดงถึง 13 ชิ้น เล่าเรื่องมนุษย์ผู้ต่อรองกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจในบริบททางสังคมที่หลากหลาย ทั้งในฐานะปัจเจกที่ตั้งคำถามจากสภาวะที่ถูกกดทับหรือความเป็นมนุษย์ถูกลดทอน โดยนำมาปะติดปะต่อ ตีความ และบอกเล่าในรูปแบบใหม่

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า ทั้งหมดที่นั่งอยู่ตรงนี้มีสองท่านที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับละครโดยตรง นั่นก็คืออาจารย์สมเกียรติ และพี่บัว ซึ่งใช้ศิลปะหลายแขนง หนึ่งในนั้นก็เป็นละครด้วย แล้วก็ทำงานกับเยาวชนหรือคนที่สมัครเข้ามาในค่าย อันนี้จะมีความต่างกันอยู่บ้างกับกระบวนการที่เราใช้ในเทศกาลละคร อยากให้พี่บัวเล่าให้ฟังหน่อยว่าทำงานอย่างไร แล้วเจอข้อค้นพบอะไรบ้างกับการใช้กระบวนการทำงานศิลปะกับเยาวชน หรือเกิดปัญหาและมันนำไปสู่การเชื่อมโยงกับการแก้ไขปัญหาร่วมกันกับคนรุ่นใหม่ยังไง ?

2 ปีแรกงานของโครงการ Human ร้าย Human wrong  ทำงานกับกลุ่มคนที่สมัครมาร่วมและทำงานอยู่ในเมือง ได้ข่าวว่าปีนี้ขยับไปทำงานกับชุมชนทำไมมันถึงออกมาเป็นรูปแบบรสชาติแบบนี้ได้ครับ ?

นันท์ณิชา ศรีวุฒิ :

สวัสดีค่ะ อย่างที่นลธวัชบอกนะคะ โครงการ Human ร้าย Human wrong ขึ้นปีที่ 3 แล้ว โครงการของเราเปิดพื้นที่ให้กับเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้ออกมาพูดเกี่ยวกับประเด็นทางสังคม เรื่องของสิทธิมนุษยชนผ่านกระบวนการทำงานศิลปะร่วมสมัย ซึ่งในโครงการนี้เราประกาศตัวเลยว่าเราอยากจะเปิดรับเสียงของคนรุ่นใหม่จริงๆ ที่ต้องการนำเสนอประเด็นต่างๆ ที่พวกเขาได้เจอในชีวิตประจำวัน ซึ่งเรารู้สึกว่าเด็กและเยาวชนในยุคปัจจุบันมีเรื่องสิ่งที่อยากจะพูดมากขึ้น แต่เวทีหรือพื้นที่ที่จะทำให้ได้แสดงออกในสิ่งที่พูดหรือส่งเสริมศักยภาพในการพูดเรื่องของสิทธิมนุษยชนที่มันเป็นเรื่องไกลตัวให้มันอยู่ใกล้ตัวเค้ามากขึ้น 

เราก็เลย Create เป็นโครงการ Human ร้าย Human wrong ขึ้นมา ซึ่งใช้กระบวนการทำงานศิลปะควบคู่กับความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนผนวกรวมกันให้กลายเป็น workshop ต่างๆ แล้วปลายทางงานเด็กๆ จะสามารถ Create เป็น Project งานศิลปะของตัวเองขึ้นมาคนละหนึ่งชิ้น

เพื่อที่จะสะท้อนเสียงของเค้าที่มีต่อประเด็นทางสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Cyber Bully เรื่องของความเท่าเทียมกันของเพศสภาพต่างๆ หรือเรื่องการถูกทำร้ายในครอบครัวตัวเองผ่านงานศิลปะต่างๆ ซึ่งเด็กเหล่านี้มีมาจากหลายพื้นที่ทั้งที่ บางคนไม่เคยเรียนศิลปะเลย หรือบางคนอยู่ใน Field งานศิลปะด้วย ซึ่งดีใจมากที่ได้มาแลกเปลี่ยนกับโครงการของ Act Up ในครั้งนี้ เพราะว่าเราเห็นถึงตัวจุดประสงค์ของโครงการ Act Up ตรงที่อยากจะเปิดพื้นที่และใช้งานศิลปะในการส่งเสียงต่างๆ ให้กับเด็กและเยาวชน โดยให้เขาได้เป็นคนส่งเสียงเองด้วย

ภาพ : เพจ Act Up Chiangmai

ภาพ : เพจ Act Up Chiangmai

ตั้งแต่ทำมาจากรุ่น 1 ถึงรุ่น 3 เห็นได้ว่าสิ่งที่เด็กและเยาวชนต้องการจะพูดมากที่สุดถึงแม้ว่าสิ่งที่เขาพูดมันจะเป็นเสียงสะท้อนที่ถ้าเป็นผู้ใหญ่อย่างเรามอง เราก็อาจจะรู้สึกว่าเป็นการข้ามหน้าข้ามตาผู้ใหญ่หรือเปล่า หรือเป็นเด็กแค่นี้ทำไมต้องมาพูดเรื่องการเมือง เรื่องของสิทธิมนุษยชนต่างๆ

ซึ่งเราต้องพยายามบอกให้รู้ว่าเรื่องการเมืองมันเป็นเรื่องใกล้ตัว เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเขามากๆ แล้วทำไมหน้าที่ของผู้ใหญ่จึงไม่มีพื้นที่หรือว่าไม่เปิดพื้นที่ให้กับเด็กได้ออกมาพูดบ้าง แน่นอนว่ากลุ่มเป้าหมายของเด็กและเยาวชนถึงแม้ว่าเขาจะพูดกันเอง แต่สิ่งที่พวกเขาพูดกันเองมันต้องไปปะทะ ไปตั้งคำถามกับผู้ใหญ่ด้วยว่าจะยอมรับในสิ่งที่เด็กเรียกร้องรึเปล่า

การทำงานของ Human ร้าย Human wrong ใน 2 ปีแรก เราอยากจะให้เด็กได้รู้จัก Concept ของเรื่องสิทธิมนุษยชนและเรื่องใกล้ตัวเขาก่อน แต่ทีนี้เรารู้สึกว่าในเมื่อเข้าใจตัวเองแล้วเราลองขยับไปเข้าใจกลุ่มคนที่มีพื้นที่ในการส่งเสียงน้อยกว่าคนในเมืองกว่าเราดูไหม หรือกลุ่มคนที่เรารู้สึกว่าเค้าเป็นคนชายขอบ เป็นคนที่ต้องการความช่วยเหลือ มันคือภาพแบบนั้นจริงๆ รึเปล่า

เราลองเปิดพื้นที่ให้เด็กได้ทำความเข้าใจคนที่มีความหลากหลาย เป็นชนชาติพันธุ์หรือมีความคิดที่แตกต่างกับเรามากขึ้น เพื่อที่จะเป็นวัตถุดิบในการนำมาผลิตงานศิลปะให้มากขึ้น แล้วก็จะสามารถทำให้คนได้เข้าใจความหลากหลายของมนุษย์มากขึ้น ซึ่งมันเป็น theme หลักๆ ของโครงการ Human ร้าย Human wrong ปีนี้ 

มีคำถามเกิดขึ้นกับเด็กในโครงการหลายคำถามเหมือนกันกับภาพก่อนที่จะเข้าไปในพื้นที่และหลังเข้าไปเจอจริงๆ เราไปในพื้นที่ของหมู่บ้านหนองเต่าซึ่งเป็นหมู่บ้านปกาเกอะญอ เขาก็รู้สึกว่าภาพที่เขารู้จักคือภาพของชนบท ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง น้ำประปา สาธารณูปโภคต่างๆ เข้าไม่ถึง ซึ่งพอไปเห็นจริงๆ มันต่างจากนั้นมาก 

ตัว Project นี้ เด็กทุกคนไม่ได้มาจากเด็กที่เรียนศิลปะ เขาก็จะพยายามหาเครื่องมือต่างๆ ที่เขาพอจะทำงานเป็นงานศิลปะได้ ทั้งงานวีดีโอ งานละคร งาน Installation Art ค่อยๆ ทำความคุ้นเคย หรือนำเอาวัตถุดิบต่างๆ จากที่ค้นคว้ามาทำเป็นงานศิลปะ เพื่อสื่อสารกับคนภายนอกให้มากยิ่งขึ้น แล้วเขาก็ได้เรียนรู้กระบวนการทำงานศิลปะไปด้วยในตัว เราตั้งโจทย์ว่าทุกอย่างที่คุณสื่อสารมันสามารถเป็นงานศิลปะได้ คุณอย่าไปกลัวเส้นแบ่งว่าอันไหนคือศิลปินอันไหนคือคนธรรมดาทำงาน เราเลยพยายามจะทำลายกรอบตรงนี้ให้มากขึ้น ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของงานศิลปะและผลิตงานศิลปะได้เหมือนกัน

นลธวัช มะชัย :

เป็นข้อค้นพบจากที่ทำงานมา 3 ปีเต็ม น่าสนใจมากครับ 

ผมขอขยับมาทางฝั่งพี่กอล์ฟบ้าง คุณธนุพล ยินดี หัวหน้าโครงการนักการสื่อสารการละคร Act Up : Chiangmai Transformative Theatre Project  มูลนิธิสื่อชาวบ้าน หรือที่เรารู้จักกันในชื่อกลุ่มมะขามป้อม คนสำคัญในการประสานและเชื่อมกลุ่มละครทั้งหมดในวันนี้ มาเจอแล้วสร้างเทศกาลละครด้วยกัน

เมื่อวานผมเห็นเฮียก๋วยโพสต์สเตตัสบอกว่าพี่กอล์ฟจากเป็นเด็กค่ายละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เวลาผ่านไป ตอนนี้กลายเป็นผู้จัดเทศกาลละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง 

10 ปีแล้วนะครับ ผมเลยไม่ได้อยากถามแค่ในตัวงานของ  Act Up แต่ขอถามกลับไปตั้งแต่พี่กอล์ฟเข้ามาทำงานเป็นอาสาสมัครมะขามป้อม มันพัฒนาหรือมันเจออะไรมาบ้างจนกว่าจะมาถึงการเป็น Producer งานในวันนี้ครับ ทั้งข้อค้นพบและกระบวนการที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกันกับคนรุ่นใหม่ยังไง ?

ภาพ : เพจ Act Up Chiangmai

ภาพ : เพจ Act Up Chiangmai

ธนุพล ยินดี :

จริงๆ ก็รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันก็เล่าได้ทั้งหมดนะว่าการที่เป็น “ผู้ใหญ่”  ไม่ใช่หมายถึงแค่ Sponsors  แต่หมายถึงผู้ใหญ่จริงๆ คนที่มีประสบการณ์ คนที่มีความรู้ คนที่ผ่านโลกมาก่อน เขาไม่ลืมคนรุ่นใหม่นะ มันมีความสำคัญมาก มันเปลี่ยนชีวิตเรามากๆ คือถ้าวันหนึ่งเมื่อ 10 ปีที่แล้วทีมพี่ก๋วย ทีมมะขามป้อม ไม่ทำโครงการเหล่านั้นก็คงจะไม่มีผมที่มานั่งทำโครงการเหล่านี้ด้วย และผมก็คงจะไม่สามารถมาเจอคนอีกพันกว่าคนในชียงใหม่แล้วก็ไปสร้าง Impact อย่างน้อยก็ให้เขารู้ว่ามันเกิดอะไรบ้างในเชียงใหม่ มันจำเป็นมากที่ต้องการเห็นภาพแบบนี้บ่อยๆ 

แต่ผมคิดว่าระหว่างทาง 10 ปี ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเรามันมีเงื่อนไขทางสังคมเยอะแยะมากมาย อาจยากที่คนทำงานด้านศิลปะจะเติบโตได้อย่างที่เขาตั้งใจ ผมคิดว่าในบทเรียนของ 10 ปีที่ผ่านมาผมเห็นข้อนี้ชัดที่สุดว่า ถ้าภาครัฐเข้ามามีส่วนจริงๆ ในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของชาติ มันจะขยับไปได้เยอะมาก ซึ่งโชคดีที่งานนี้ได้กองทุนมาช่วยทำให้ก้าวสำคัญของเชียงใหม่ขึ้นเป็นก้าวประวัติศาสตร์ที่จะทำยังไงให้เรารู้ว่า เรามีฝันนะ แล้วเขาก็พร้อมที่จะสนับสนุน ผมรู้สึกว่านี่มันกระทบกับใจเรามาก

ข้อค้นพบแรกก็คือ จะทำงาน Art อย่ากลัวเรื่องการจัดการ แล้วคนทำการจัดการก็ต้องเรียนรู้เรื่อง Art ด้วย มันต้องทำงานไปด้วยกัน จึงจะมีประสิทธิภาพ

นลธวัช มะชัย :

น่าสนใจครับ คนละครที่นั่งอยู่ในนี้หลายคนคงเข้าใจดี

ถ้าอย่างนั้นผมเอาข้อค้นพบนี้กลับมาถามอาจารย์แววดาวในฐานะของคนที่เป็นศิลปินมาก่อน แล้ววันหนึ่งก็จับพลัดจับผลูยังไงไม่รู้ กระโดดมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ขอถามอาจารย์แววดาว ศิริสุข อาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปะการดนตรีและการแสดง ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เวลาเราเห็นอาจารย์มหาวิทยาลัยทำงานก็จะทำงานกับนักศึกษาในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย แต่ว่าของอาจารย์แววดาวไม่ว่างานไหนก็จะพานักศึกษาลงไปลุยงาน จากศิลปินขยับมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย สอนหนังสือ ทำงานจัดการ สร้างงานละครแล้วเกิดมาเป็นกลุ่มละคร Sirisook Dance Theatre ให้นักศึกษาของตัวเองที่จบไปแล้วหรือที่กำลังจะจบได้เข้ามาใช้พื้นที่ของกลุ่มละครทำงาน ที่ผ่านมาอาจารย์สร้างสมดุลยังไงในการทำงาน ทั้งการทำงานศิลปะและการจัดการไปพร้อมกัน แล้วค้นพบอะไรบ้าง ?

กระบวนการพวกนี้เกิดจากการเรียนรู้กันในห้องเรียนหรือเกิดจากการเรียนรู้ข้างนอกห้องเรียน มากน้อยกว่ากันแค่ไหนยังไง ? 

อ.แววดาว ศิริสุข :

ค้นพบว่า ข้อหนึ่ง การทำงานกับเด็กๆ ทำให้ Energy เราดีขึ้น หมายถึงว่าการทำงานกับเด็กทำให้เราเด็กลงไปด้วย เพราะฉะนั้นทำงานกับเด็กบ่อยๆ นะคะ ทำให้เรารู้สึกว่าพอมี Energy แล้ว เขามีอะไรที่จะให้กลับมากับเราอีกเยอะแยะ เขาเป็นคนที่ให้แรงบันดาลใจกับเราเยอะมาก

เรื่องของการจัดการ ไม่ห่วง เพราะว่าตัวเองก็จัดการตัวเองมาตั้งแต่เป็นนักศึกษาแล้ว คือรับงานแสดง รับไปแสดงที่อื่นตั้งนานมาแล้ว เพราะฉะนั้นการจัดการของเรา เรารู้ว่าเราจะต้องทำอะไรบ้าง 

แต่เวลาการไปจัดการคนอื่นใหม่ๆ จะมีปัญหา คือความไม่ไว้วางใจคนอื่น ความไม่ยอมวางงานให้ใครเลย จะทำคนเดียวทั้งหมด แต่พอหลังๆ มาเรารู้แล้วว่าคนนี้มีศักยภาพทำอะไรได้บ้าง เราต้องไว้ใจเขา เมื่อมอบหมายงานให้แล้วเขาจะไปจัดการได้ อาจจะไม่ใช่แบบที่เราต้องการ แต่ว่าเขาจะมีวิธีการจัดการของเขาให้มันออกมาได้ในแบบที่เขาคิดว่าเรารับได้ ทำให้เราปล่อยวางขึ้นเยอะ

จากเมื่อก่อนที่ไม่ยอมปล่อยวางอะไรเลย เกิดอะไรผิดเล็กๆ น้อยๆ เด็กจะรู้เลยว่าเราเริ่มชักสีหน้าแล้ว จะไม่งามแล้ว เครียดทันที ทุกอย่างจะแสดงออกทางสีหน้า เขารู้ว่าเราไม่พอใจ 

ตอนนี้ คนนี้มาไม่ทันก็ไม่เป็นไรเดี๋ยวมันก็ต้องไปตามครรลองของมัน หรือกระจกแตก กระจกดีๆ ไหลลงมาแตก ขาดไปหนึ่งอันเหลือสี่อันก็ไม่เป็นไร ทุกอย่างมันยังรันต่อไปได้ถ้าเรารู้ว่าจริงๆ แล้วเราต้องการที่จะทำอะไร ผลงานที่ออกมาเราต้องการอยากให้มันออกมาเป็นยังไง

ทุกวันนี้ที่สอนเอาทฤษฎีหรือว่าประสบการณ์ที่เรามีมาสอนแค่ครึ่งเดียว แค่ 50 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออีก 50 เปอร์เซ็นต์ เขาจะเป็นคนบอกเราเองว่าเราจะต้องสอนอะไรเขา เพราะว่านักศึกษาแต่ละคน Nature ไม่เหมือนกันเลย ในห้องเรียนเราจะเป็นคนพบว่า เขาถนัดแบบนี้ เขาไม่ถนัดแบบนั้น แล้วเราก็จะปรับตัวเองหรือว่าปรับลักษณะการสอนหลายๆ อย่างให้เข้ากับเขา โดยที่เราเองจริงๆ ก็เรียนรู้จากเขา 

เราจะเห็นได้ว่าบางครั้งของบางอย่างเราคิดว่าเราล้ำแล้ว เราคิดว่าเราไปข้างหน้าเยอะแล้ว เราคิดว่ามันไม่ปลอดภัย มันไม่ปลอดภัยก็คือมันข้ามจุดของ Safe zone ไปแล้ว บางครั้งที่เราทำ เรารู้สึกว่าเขาจะต้องรับไม่ได้ หรือเขาจะต้องไม่รู้สึกสบายใจกับตรงนั้น ปรากฏว่าไม่ใช่นะคะ บางทีเห็นเขาผลิตงานของเขาออกมาเอง เขาไปได้ไกลกว่าเราอีก และเขาพร้อมที่จะทำอะไรใหม่ๆ มากกว่าที่เราคิดเยอะ มันก็ทำให้เรารู้ว่า ถึงแม้ว่าเราจะคิดว่าเราเป็นคนรุ่นใหม่ขนาดไหน มันมีคนรุ่นใหม่กว่ามาอีกเสมอ 

เพราะฉะนั้นเราก็ต้องปรับทัศนคติของเราให้เข้ากับตรงนั้น แล้วเปิดใจยอมรับในสิ่งที่เขาพร้อมจะให้เราด้วย อันนี้สำคัญ แต่ยังไงก็ตามวิธีการสอนแบบเก่ามันก็ยังต้องมีอยู่ไม่ใช่ว่าทุกอย่างปล่อยไปหมด

การเรียนรู้ประมาณ 60 – 40 เปอร์เซ็นต์ค่ะ ในห้องเรียนประมาณ 60 การออกมาข้างนอกเราจะมีทีมที่เอานักศึกษามาแสดงข้างนอกบ่อยๆ ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ 

จริงๆ เราแทบแยกไม่ออกว่าอันไหนในห้องเรียน อันไหนข้างนอก เพราะว่าทุกวันนี้ในห้องเรียนเราก็นั่งกินข้าวเช้าด้วยกัน Update กันไปว่าเกิดอะไรขึ้น อันไหนดีอันไหนไม่ดีจะปรับปรุงยังไง เลยไปถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น พ่อแม่ใครไม่สบาย คนนี้เลิกกับใคร คือเราแทบจะคุยกันได้ทุกเรื่อง เลยไม่ได้เรียกว่าเป็นห้องเรียนอีกต่อไปแล้ว เราทำงานร่วมกัน เรียกอย่างนั้นดีกว่า

ภาพ : เพจ Act Up Chiangmai

ภาพ : เพจ Act Up Chiangmai

อาจารย์ของอาจารย์อีกที คืออาจารย์วิถี พานิชพันธ์  แกเป็นคนที่มองหรือคิดไปข้างหน้ามาตั้งนานแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาที่สอน แกไม่เคยสอนเราว่าเราจะต้องฟ้อนยังไง เราจะต้องใส่ชุดอะไร แต่แกจะสอนว่าคุณอยากจะฟ้อนแบบไหน แล้วคุณอยากจะให้คนเห็นคุณแบบไหน เพราะฉะนั้นอาจารย์วิถีสอนให้เราคิดเอง ไม่มาคิดให้ เราก็เลยนำเอาแนวคิดตรงนั้นมาถ่ายทอดต่อ แต่ต้องไปถามลูกศิษย์เราเองนะ ว่าเขาคิดอย่างนั้นหรือเปล่า (หัวเราะ) 

ที่สำคัญที่สุดก็คือเราต้องรักกัน เพราะบางทีมันเกิดอะไรขึ้นก็ไม่รู้แหละ ถ้าเราได้กอดกันมันก็จบแล้วเรื่องที่มันเกิดขึ้นไม่ดีกับเรามันก็จะค่อยๆ จางหายไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระหว่างเรากับเขาหรือว่าเรื่องระหว่างเขากับคนอื่น

นลธวัช มะชัย :

ขอบคุณครับ

เราต้องได้กอดกันนะครับ ขอบคุณอาจารย์แววดาวมากครับ

ทีนี้ขยับอีกนิดมาถามอาจารย์คำรณ คุณะดิลก บ้างครับ ในฐานะผู้ก่อตั้งคณะละครพระจันทร์เสี้ยวการละคร อดีตอาจารย์ผู้สอนศิลปะการแสดง คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเมื่อไม่นานมานี้เพิ่งจัดงานครบ 6 รอบไป กาลเวลาก็ผ่านล่วงเลยมา เห็นการเปลี่ยนแปลงใน Generation  และในวงการศิลปะการละครตั้งแต่ยุคแรกๆ และเห็นกระบวนการผลิตนักการละครเรื่อยมา เจอการเปลี่ยนแปลงในวงการละครหลายระลอก อาจารย์เห็นหรือเจอข้อค้นพบอย่างไรบ้าง ?

ภาพ : เพจ Act Up Chiangmai

ภาพ : เพจ Act Up Chiangmai

อ.คำรณ คุณะดิลก :

ผมจับละครมาตั้งแต่แรก ละครในสถานการณ์ที่มันผันแปร ผ่านสงครามมา 3 แบบชัดๆ ละครแรกๆ ก็เป็นการต่อสู้ เรื่องแรกทำที่เชียงใหม่ไปค้นคว้าปัญหาความยากจนของชาวนาภาคเหนือ ไปอยู่กับชาวบ้านเลย แล้วก็เอากลับมาทำเป็นละคร ก่อนที่จะเป็น 14 ตุลา 

หลังจาก 14 ตุลา มันก็พัฒนาไปเรื่อยๆ จนกระทั่งใกล้ๆ 6 ตุลา เริ่มรู้ว่ามีแนวโน้มจะรัฐประหาร หรืออาจจะรุนแรง เราพยายามลงมาหาแนวร่วมชนชั้นกลาง คนในเมืองอธิบายว่ากระบวนการนักศึกษาที่เขาทำแบบนี้ ทำเพื่ออะไรยังไง เลยออกมาเป็นรูปแบบละครเรื่อง ก่อนอรุณรุ่ง แต่ก็ไม่ทัน มี 6 ตุลาฯ เกิดขึ้น 

คณะละครเราเป็นคณะที่อยู่ในสถานการณ์สู้รบตลอด ก่อน 6 ตุลา เราออกไปแสดงตามชนบทต่างๆเคียงคู่กับคาราวาน ไปแสดงที่พิษณุโลกก็โดนปืนกลใส่ ต้องโดดหมอบกัน ไปแสดงที่โรงงานก็โดนปาระเบิด แต่ไม่ลงตรงเวที ไปลงตรงคนดูตาย เราหนีรอดมาได้ 

6 ตุลาฯ คณะละครกำลังแสดงอยู่ กำลังทำขวัญนาคถนอมอยู่บนเวที ก็โดนยิง m79 เข้ามา แล้วก็โดนจับไปครึ่งหนึ่ง 

นั่นคือยุคสมัยที่ต้องทำงานแบบนั้น ต่อสู้ขึ้นมาเรื่อยๆ  แล้วเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลง แต่ในส่วนของการทำละครสมัยก่อน ช่วงแรกเราลงไปทำแทนเขา ไปรีเสิร์ชออกมา แล้วเราก็มีงานแสดง จนกระทั่งพัฒนาขึ้นมา ในช่วงยุคหลังๆ ที่เริ่มพยายามลงไปทำงานกับชุมชนแล้วให้เขาเป็นคนเล่าเรื่องเอง เราไปสนับสนุนเป็นพี่เลี้ยงด้านเทคนิค ด้านเครื่องมือ เพราะเราถือว่าใครที่เป็นคนเล่าเรื่อง คนนั้นเขาจะมีอำนาจของเขาเอง 

พอในยุคนี้ก็เป็นการต่อสู้อีกหลากรูปแบบ แต่อยากจะฝากไว้นิดหนึ่งก็คือ สิ่งที่เราต้องยึดถือในการทำงานคือ  

1) ประชาธิปไตย 

2) มี Participation หรือกระบวนการมีส่วนร่วม 

3) ไม่ใช่แค่ผลงานที่ออกมา แต่เป็นการกระตุ้นให้ชุมชนตระหนักในศักยภาพของเขาที่จะสามารถทำได้ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะหรืองานอะไรก็ตาม 

คำว่าประชาธิปไตยโดยมากเราใช้กันแค่ 2 ขา คือขาของเสรีภาพ อีกขาหนึ่งเสมอภาค โดยขาที่สามคือภราดรภาพไม่ค่อยพูดถึง เหมือนอาจารย์แววดาวบอกว่าทำงานกับนักศึกษา ทำงานกับคนรุ่นใหม่ให้มีความรักก่อน ถ้าเกิดราไม่เริ่มต้นด้วยความรัก เราเริ่มต้นด้วย Hate speech ต่างๆ มันก็ไปไหนไม่ได้ 

ถ้าเกิดเรามีความรักจริงๆ เวลาที่เราทำละคร เราต้องรักความเป็นมนุษย์  เราต้องเคารพในความเป็นมนุษย์ก่อน เวลาเราทำเรื่องของความเป็นมนุษย์ แน่นอนมันต้องเกี่ยวข้องกับการเมือง ในสมัยก่อนนั้นก็คือต่อต้านทั้งเผด็จการทางฝ่ายขวา และเผด็จการทางฝ่ายซ้าย 

ทีนี้ก็อยากจะเตือนพวกรุ่นหนุ่มสาวตอนนี้ เห็นมีการสร้างงาน เห็นมีออกแสดง ระวังนิดหนึ่งนะครับ เราหาทุนมาเพื่อสร้างงาน อย่าสร้างงานเพื่อไปหาทุน ไม่ใช่ว่าตรงนี้มาทำเรื่องปลอดภัยและสร้างสรรค์ เราก็สร้างงานปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อจะได้ทุน แต่งานต้องไปทำให้เขาเข้าใจว่างานของเรามันเกี่ยวยังไง 

สมัยนี้เราก็พูดถึงเรื่องทุนต่างๆ  รัฐไม่มีให้โดยตรง ค่าผ่านประตูก็ใช้ไม่ได้ มันเลยลำบากในการหาทุน พระจันทร์เสี้ยวไม่เคยรับทุน เราทำงานแบบที่เราอยากจะทำ ถ้าไม่งั้นก็ไปขายก๋วยเตี๋ยว ไปขายน้ำเต้าหู้ แต่ถ้าจะทำงานละครเราจะไม่ persecute ตัวเรา งานละครเราก็ทำอย่างที่เราอยากจะทำ 

อย่าคิดว่าละครเป็นแค่เครื่องมือ ในตัวของศิลปะการละครถ้าเราจะทำงานละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อสาธารณสุข เพื่ออะไรก็ตาม อย่าเพียงแค่ขโมยเครื่องมือแล้วก็ไปทำ ต้องศึกษาเครื่องมือนั้นให้ดี เพราะในเครื่องมือของศิลปะการละครมันจะเป็นเครื่องมือที่จะทำงานพัฒนาภายในของเราได้มาก 

ยุคสมัยนี้ที่ต้องเผชิญหน้า เราถูกผลักเข้าไปสู่สังคม Digital ต่างๆ ทั้งหลาย ไทยแลนด์ 4.0 ในขณะที่องค์กรทุนทั้งหลายก็เริ่มประกาศว่าเวลาเรามองปัญหาอะไรให้มองเป็นองค์รวมอย่าแยกส่วน ทีนี้องค์รวมของเขาคืออะไร? สสส. สุขภาวะ องค์รวมสุขภาวะคืออะไร หรือว่าเรามองปัญหาเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ เรื่องสิทธิเสรีภาพ องค์รวมของปัญหามันคืออะไร 

พวกนี้เขาเป็นคนประกาศเองนะครับว่าองค์รวมของเขา หมายถึงมิติทางกายภาพ  (Physical Dimension) มิติทางด้านจิตวิทยา (Psychological Dimension) และ อันที่สามคือ มิติทางด้านจิตวิญญาณ ซึ่งถ้าคุณขอทุนและขอทำงานทางด้านมิติทางด้านจิตวิญญาณ ก็น่าห่วง เพราะมันวัดไม่ได้ จะวิจัยเชิงคุณภาพก็ไม่ใช่ วิจัยเชิงปริมาณก็ไม่ใช่ แต่หมายความว่ามิติทางด้านจิตวิญญาณ มันมีอาชีพของเราอาชีพเดียวที่ใช้คำว่ามิติทางด้านจิตวิญญาณอย่างตรงไปตรงมา 

มิติทางด้านจิตวิญญาณไม่ใช่เชื่อทางด้านผีสางเทวดา แต่มันหมายถึงว่าเรามีความสัมพันธ์กับสรรพสิ่งและกับสรรพสัตว์ มีความสัมพันธ์กัน เป็นหนึ่งเดียวกัน เวลาเราพูดถึงนิทานเรื่องเทพารักษ์กับคนตัดไม้ เราจะไม่พูดถึงว่าแค่เทพารักษ์มีจริงหรือไม่จริง แต่ถ้าเกิดเราอยู่ในชุดความคิดอย่างนี้เราจะตัดไม้อยู่ไหม เราจะโยนขยะลงแม่น้ำลำคลองไหม เพราะฉะนั้นการผูกทางด้านจิตวิญญาณไม่มีใครจะมาช่วยแก้ได้ พระก็แก้ไม่ได้ มีแต่ศิลปะการละครที่ยึดกับคำว่าอนัตตาและอนิจจัง กายเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา และเราสัมพันธ์ เราเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้องกับต้นไม้ นั่นคือเรา 

อีกอันหนึ่งคือต้องพยายามต่อสู้สุนทรียภาพ ตอนนี้มันถูกรวบไว้เป็นศูนย์กลาง สุนทรียะมันจะมีอยู่เพียงแค่มหาวิทยาลัยศิลปากร หรือแค่ในวิชาที่สอน Painting สอนอะไรต่างๆ ชาวบ้านไม่มีสุนทรียะเหรอ?

เพราะฉะนั้นควรคืนศิลปะ คืนสุนทรียะให้แก่ชุมชน ละครก็เหมือนกัน คือการคืนศิลปะการละครซึ่งเป็นภาษาแรกของมนุษย์ ในระหว่างที่เป็นภาษากาย เล่าเพื่อเกิดความเข้าใจ ในสมัยก่อนทุกคนเป็นทั้งผู้เล่นและผู้ชม แล้วต่อมาศิลปะการละครก็เหมือนศิลปะอื่นๆ ใครมีอำนาจในสังคม เป็นพวกพ่อมดหมอผีก็เอาไปใช้ พวกคริสต์ศาสนาก็เอาไปใช้เป็นพิธีกรรมทางคริสต์ศาสนา พอมาถึงทุนนิยม ทุนนิยมก็เอาไปใช้ในการสร้างกำไร ทำละคร ทำโทรทัศน์ มันน่าสนใจ 

ฉะนั้นงานอีกอย่างของเราคือการคืนศิลปะการละครให้ชุมชมเพื่อสื่อสารกันและทำความเข้าใจกัน

นลธวัช มะชัย :

ขอบคุณครับอาจารย์ 

อาจารย์คำรณไล่มาตั้งแต่ Timeline วงการละครคร่าวๆ แล้วก็ให้ข้อแนะนำไว้ประมาณ 3 ข้อใหญ่ๆ ซึ่งข้อแรกคือว่าเราหาทุนมาสร้างงาน ต้องตอบให้ได้ว่าเราหาทุนมาสร้างงานหรือสร้างงานเพื่อจะให้ได้รับทุน สองคืออย่าคิดว่าศิลปะการละครเป็นแค่เครื่องมือ แต่ให้เราทำความเข้าใจลงไปให้ลึกมากกว่านั้น ซึ่งก็สัมพันธ์กันกับที่พวกเรากำลังคุยกันถึงเรื่องของการใช้กระบวนการละครหรือกระบวนการทางศิลปะอื่นๆ อย่างที่พี่บัวทำงานกันอยู่กับทุกคนตอนนี้ 

ผมขอถามต่อไปถึงอาจารย์สมเกียรตินะครับ ซึ่งอาจารย์ก็ดูแลกองทุนพัฒนาสื่อฯ ในฐานะแหล่งทุนของงานวันนี้ด้วย ผู้ช่วยศาสตรจารย์สมเกียรติ รุ่งเรืองวิริยะ ฝ่ายพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำหรับเด็กและเยาวชน กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

เมื่อสักครู่เราพูดถึงเรื่องการจัดการ ได้ข้อสรุปมาข้อหนึ่งที่น่าสนใจว่าคนทำละครต้องทำความเข้าใจการจัดการ คนทำการจัดการต้องเข้าใจศิลปะการละครด้วย อาจารย์แววดาวที่ใช้กระบวนการจัดการการละครในสถาบันการศึกษา อาจารย์คำรณขมวดให้เห็นว่าสภาวะเหล่านั้น ไม่ใช่เกิดแค่ตอนนี้ แต่มันเกิดมาตั้งนานแล้ว ยิ่งอยู่ในยุคทุนนิยมด้วย ก็เลยทิ้งข้อเสนอประเด็นทำงานหาทุนมาสร้างงานหรือสร้างงานให้ทุน 

เพราะฉะนั้นขอถามอาจารย์สมเกียรติ ในแง่ของนโยบายด้านศิลปะการละคร หรือภาพตามนโยบายของรัฐ จะทำยังไงดีกับข้อค้นพบจากสี่ท่านที่ผ่านมา หรือจริงๆ แล้ววิธีคิดของทางฝั่งรัฐ เจอข้อค้นพบแบบไหนที่เรายังไม่ได้คุยกันและนำไปสู่การทำงานของคนรุ่นใหม่ครับ เรียนเชิญครับอาจารย์

ภาพ : เพจ Act Up Chiangmai

ภาพ : เพจ Act Up Chiangmai

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมเกียรติ รุ่งเรืองวิริยะ :

สวัสดีครับ  เมื่อสิบปีที่แล้วผมมีโอกาสได้ศึกษาข้อมูลชุดหนึ่งอย่างละเอียดเลย คือเกิดอะไรขึ้น ทำไมวัฒนธรรมแบบเกาหลีถึงกลืนโลกไปเกือบครึ่งโลก พูดง่ายๆ ว่าเอเชียทั้งหมดเป็นกลิ่นนั้นหมดเลย แต่ก่อนหน้านั้นผมค้นพบว่าตัวผมโตมากับการเป็นผู้นำเข้าทางวัฒนธรรม มีสองกระแสหลักที่ส่งออกวัฒนธรรม

อันที่หนึ่งก็คือจากสหรัฐอเมริกาส่งออกวัฒนธรรม Pop หรือ วัฒนธรรม Fast food เขาทำให้คนทั้งโลกรวมทั้งผมด้วยจะต้องใส่เสื้อยืด เพราะเสื้อยืดมันแปลว่าอะไรง่ายๆ คือเราไม่ได้ใส่เสื้อยืดนะ แต่มันคือความรู้สึกว่าเรากำลังสวมใส่อะไรง่ายๆ 

อีกฟากหนึ่งผมก็โตมากับวัฒนธรรมแบบมังงะของญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเป็นนักเล่าเรื่อง การ์ตูนยุค Generation ของผมก็โตมากับวัฒนธรรมการเล่าเรื่องแบบภาพ โดเรม่อน อาลาเร่ มดเอ็กซ์ อะไรแบบนี้ แต่สิ่งที่ญี่ปุ่นพิเศษไปกว่านั้นคือเขาไม่ได้ส่งในเชิงของบันเทิงสร้างสรรค์ ญี่ปุ่นส่งออกวัฒนธรรมที่แข็งแรงมากคือวัฒนธรรมมังงะ 

ผมขอเท้าความในฐานะที่เป็นนักเรียนทางวัฒนธรรม ผมรู้สึกว่าผมไม่ได้เป็นเหยื่อของวัฒนธรรมแบบ Hollywood และก็วัฒนธรรมแบบมังงะของญี่ปุ่น แต่อยู่มาวันหนึ่งเกิดอะไรขึ้น ทำไมแชมป์เก่าสองประเทศนี้ถึงถูกเกาหลีล้มไป สร้างวัฒนธรรม K-Pop ทำให้พวกเรากลายเป็นติ่งไปหมดเลย มันเกิดอะไรขึ้น เกาหลีมีอะไรดี เมื่อตอนปี 2490  ประเทศไทยยังต้องส่งทหารไปช่วยอยู่เลย ยังเป็นประเทศยากจนอยู่ ช่วงปี 2500 ต้นๆ จนถึงปี 2530 เขายังเดินทางมาดูงานประเทศไทยอยู่เลย 

ผมค้นพบข้อหนึ่งจากการเข้าไปศึกษาเรื่องของเกาหลีในช่วง 10-12  ปีที่แล้ว พบว่าเขามีนโยบายจากรัฐสนับสนุน ยกตัวอย่าง ถ้าจำซีรีย์แดจังกึมได้ เราชอบอาหารเกาหลีกันจากหนังเรื่องนั้นใช่ไหมครับ ถึงขั้นไปเที่ยวเกาะนามิกัน แล้วก็พบว่าเกาะนี้ไม่มีอะไรเลย มีแค่ต้นไม้ แต่ประเด็นคือเราไปยืนอยู่ตรงที่เป็นแนวสนของต้นไม้นั้นแล้วก็ถ่ายรูปกลับมา เรานั่งเรือข้ามไปตั้งนานเพื่อถ่ายรูปๆ เดียว 

หนัง วงดนตรี ซีรีส์ เกิดจากกลยุทธ์ที่ภาครัฐให้งบประมาณไป แดจังกึมไม่สามารถสร้างด้วยทุนเอกชนได้เพราะละเอียดอ่อนลึกซึ้ง แล้วต้องใช้ทุนมหาศาลโดยที่ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหนด้วย 

ย้อนกลับมาที่พูดถึงอเมริกา พูดถึงญี่ปุ่น แล้วเมืองไทยล่ะ เกิดอะไรขึ้น ผมโตมากับยุคสมัยที่มันมีคำหนึ่งครับ คำว่า ศิลปะเพื่อชีวิต หมายความว่าถ้าคุณทำงานศิลปะคุณต้องรับใช้ประชาชน เราจึงได้ยินคำว่าวรรณกรรมเพื่อชีวิต ดนตรีเพื่อชีวิต ละครเพื่อชีวิต มันมีการชกต่อยทางความคิด เนื่องจากมีอีกกระแสหนึ่งประท้วง เขาบอกว่าศิลปะไม่จำเป็นต้องรับใช้ประชาชน ศิลปะจำเป็นต้องรับใช้ศิลปะ เหมือนที่อาจารย์คำรณพูด เวลาที่คิดโจทย์อย่าไปคิดว่าทุนเขาสนใจเรื่องนี้แล้วก็เสนอโครงการเพื่อหาทุน อันนี้เหมือนกันเลยเขามองในมุมว่า ถ้าจะสร้างงานศิลปะจะต้องเกิดจากความงามของความอยากทำตรงนั้น ไม่ใช่คิดว่าศิลปะจะต้องสร้างมาแล้วต้องเชิดชูอุดมการณ์ในลักษณะแบบสังคมนิยมล้วน ผมก็รู้สึกว่าผมโชคดีที่ผมโตมากับตรงช่วงนั้นพอดี 

ผมไม่ได้เรียนละครนะครับ แต่สนใจด้านนี้มาก พระจันทร์เสี้ยว มรดกใหม่ มะขามป้อม สองแปด ผมคิดว่าชื่อกลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มปู่ย่าตายายของพวกเราที่กำลังนั่งในงานกันอยู่วันนี้ มาดูลักษณะพวกนี้เราก็เห็นอย่างหนึ่งว่าทุกคนเกิดจากการงอกงามและการดิ้นรนกันเอง เสียสละชีวิต เอาเลือดเนื้อ เอาชีวิตจิตวิญญาณลงมาทำ 

วันนี้เผอิญผมมานั่งอยู่ตรงนี้เรียกว่ามาในฐานะกองเชียร์ คำว่ากองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์คือชื่อชัดเจน หมายถึงว่า วันนี้ท่ามกลางสังคมที่ใครๆ ก็สร้างเนื้อหาออกมาได้ มันมีเนื้อหาบวก เนื้อหาลบ เนื้อหาสีขาว เนื้อหาสีดำ แต่เรามีความรู้สึกว่าโดยปรัชญาของกองทุนวันนี้เนื้อหาสีดำมันสร้างง่ายมากเลย แต่เนื้อหาสีขาวมันน้อยไปหน่อย

ผมจะพูดว่าอย่าคิดว่ากองทุนสนับสนุน กองทุนคืออะไรครับ กองทุนคือการเอาเงินภาษีแบ่งสันปันส่วนมาทำงานด้านนี้ กองทุนคือภาษี เพราะฉะนั้นพวกเราไม่ต้องกังวลเลย พวกเราที่นั่งอยู่ตรงนี้ คนที่ทำงานด้านนี้คือกองทุนไม่ได้สนับสนุนพวกเรา ประชาชนคนอื่นๆ ต่างหากที่มาสนับสนุนพวกเรา 

ผมจะทิ้งท้ายไว้อย่างนี้ครับว่า ถ้าหากโครงการละครนี้ไม่ได้จัดที่เชียงใหม่ อาจจะเป็นดุลยพินิจส่วนตัวนะ ผมเชื่อว่าจะไม่ได้รับการสนับสนุน ขออนุญาตเทียบเคียงล่าสุด มีโครงการที่นำเสนอเข้ามาปีล่าสุด มีคนเสนอเข้ามา 270 โครงการ ได้รับการสนับสนุน 27 โครงการ  

จาก 270 ได้ทุน 27 โครงการ ก็แปลว่ามีคนอกหัก  243 โครงการ เขาไม่ดี ไม่เก่ง ไม่พิเศษ ตรงไหนหรือ ถึงไม่ได้รับการสนับสนุน อย่างที่ทราบว่ากองทุนเราใช้เงินภาษี มันมีวงเงินงบประมาณอยู่ส่วนหนึ่ง ผมถึงได้บอกว่าถ้าหากมะขามป้อมบอกว่าจะจัดเทศกาลละครกรุงเทพฯ จะไม่ได้รับการสนับสนุน เพราะว่าอะไร กรุงเทพมีเทศกาลละครเยอะแล้ว มีเทศกาลละครที่มีกลุ่มคนเล็กๆ 30-50 กลุ่ม จนถึงเทศกาลละครนานาชาติ คือเรียกง่ายๆ ว่าครบหมดแล้ว กรุงเทพไม่ต้องการการขับเคลื่อนทางด้านจิตวิญญาณแล้ว 

อีกส่วนที่มีความน่าสนใจของกระบวนการก็คือตั้งแต่ตอนตั้งชื่อ ถ้าบอกว่าเป็นเทศกาลละครก็คือเทศกาลละคร ทุกคนจะเห็นภาพว่าเทศกาลละครก็คือมาเยอะๆ ต่างคนต่างซ้อม แล้วมาแสดงบนเวที ไม่ว่าจะเป็นเวทีรูปแบบไหนก็ตาม แต่อันนี้ตั้งชื่อว่า “ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง” มันน่าสนใจตรงนี้ คำว่าเปลี่ยนแปลงคืออะไร พอผมอ่านรายละเอียดโครงการผมทราบว่าอันนี้ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงสังคม แต่มันคือการบอกว่าละครคือเครื่องมือในการทำให้สิ่งที่อยู่ภายในเติบโตงอกงามขึ้น 

ผมคิดว่าเวทีวันนี้เป็นปลายทาง แต่ที่ทำมาหกเดือนแปดเดือนตลอดเส้นทางน่าจะทำให้แต่ละกลุ่มละครได้รับความเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาแล้ว ผมอยากจะใช้โอกาสนี้พูดในฐานะที่เป็นกองเชียร์ว่าอยากจะผลักดันงานด้านนี้เพื่อให้สิ่งพวกนั้นงอกงาม 

กองทุนไม่ได้สนับสนุนแบบสะเปะสะปะนะครับ ต้องบอกว่ามีกลยุทธ์สูงเลยล่ะ จะมีกลุ่มงานที่ทำงานสร้างสรรค์เยอะมาก มีภาพยนตร์สั้น ละคร ซีรีย์ การ์ตูน มีเกม มีแอพพลิเคชั่นบนมือถือ เยอะแยะไปหมดเลย แล้วสิ่งที่ครูคำรณพูดบอกว่า พวกนี้มันวัดในเชิงคุณภาพ วัดปริมาณ วัดอะไรไม่ได้ เลยไม่ได้รับความสนใจ เขาเรียกว่ามันเป็นสิ่งที่งอกงาม มันไม่สามารถวัดได้แบบแบบสอบถาม มันไม่ใช่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นขอให้สบายใจได้ว่าทำงานสร้างสรรค์ในสิ่งที่ตัวเองเชื่อมั่นต่อไปครับ 

นลธวัช มะชัย :

ขอบคุณครับ 

ใครเห็นด้วยเห็นต่างอย่างไร เดี๋ยวเราแลกเปลี่ยนกันต่อนะครับ

พอฟังอาจารย์สมเกียรติพูด ผมเริ่มรู้สึกมีความหวังขึ้นมาบ้างแล้ว คิดว่าอย่างน้อยอาจารย์เข้าใจพวกเราบ้างแล้วนิดนึง 

คำถามต่อไป ผมจะถามทุกท่าน เหลือเวลาอีกแค่นิดเดียวครับ แต่อยากจะชวนคุยกันว่า แล้วยังไงกันต่อดีในอนาคต ใครอยากพูดก่อนดีครับ

อ.คำรณ คุณะดิลก :

ต้องยอมรับว่าเราเห็นงานของกลุ่มคนรุ่นใหม่ เติบโตขึ้นเร็วมากแม้ยังไม่ลงตัวในตัวงานตัวศิลปะ ยังจะต้องฝึกฝนขัดเกลาอีกมาก แต่ก็น่าชื่นชม และไม่ใช่จู่ๆ เราจะสร้างแดจังกึมขึ้นมาได้ โดยที่ถ้าเกิดเรายื่นขอทุนไป ขอทำ Capacity  building ในองค์กร สร้างให้พร้อมเพื่อทำ Workshop ทำเรื่องบท ทำเรื่องอะไรต่ออะไรขึ้นมาเพื่อพัฒนาคนในกลุ่ม

ผมอยากจะเห็นองค์กรทุนลองมองให้การสนับสนุนบ้าง เพราะว่าก่อนที่เราจะทำผลงานอย่างนั้นได้ ในมหาวิทยาลัยก็ไม่พอ ถ้าเกิดเราสามารถ Shopping คนได้แล้วเราสามารถจัดการได้ ยกระดับคนทำงานให้มี Skill ในอาชีพของตัวให้สูงขึ้น หลังจากนั้นมันถึงจะออกไปสู้ได้ ผมว่าตรงนี้สำคัญมาก ถ้าเกิดเราจะเติบโตต่อไปเราต้องหยุดนิดหนึ่งแล้วย้อนกลับ เพราะตอนนี้รู้สึกว่าทุกคนรู้สึกว่าเรามาสิ้นสุดแล้วพวกเราทำงานได้ทันที แล้วก็หยุดพัฒนาตัวเอง อยากฝากไว้ช่วยประคับประคองกันหน่อย ถ้าเกิดเป็นรุ่นผมใช้คำว่า ถอยหลังหนึ่งก้าวเพื่อก้าวไปข้างหน้าสองก้าว 

นลธวัช มะชัย :

น่าสนใจครับอาจารย์

อาจารย์คำรณเสนอว่าการสนับสนุนไม่ใช่แค่ Project แต่ต้องสนับสนุนการเรียนรู้ การสร้างกลุ่มละครหรือคนทำงานด้วย ผมขอถามไปที่ถามอาจารย์สมเกียรติต่อเลยครับ มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน หรือถ้าจะเป็นไปได้ จะเป็นไปได้อย่างไรบ้างหรือเป็นไปไม่ได้เลยครับ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมเกียรติ รุ่งเรืองวิริยะ :

ผมคิดว่าแนวทางของการจัดตั้งกองทุนนี้ เขาออกแบบมาด้านนี้อยู่แล้ว แต่ผมไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าเราจะสนับสนุนอะไรได้

อย่างที่บอกว่าเราก็จะมีเรื่องของภาคีผู้ขอทุน แต่ถ้าในลักษณะนี้ ผมจะบอกว่ามาถูกทางแล้ว แล้วก็อย่าเหนื่อยที่จะทำในสิ่งที่ตัวเองศรัทธาต่อไป

นลธวัช มะชัย :

ขอบคุณครับ

ถามอาจารย์แววดาวต่อเลย อาจารย์คิด มองเห็นภาพ จินตนาการ หรือมีคำแนะนำอย่างไรถึงการก้าวเดินต่อไปของวงการศิลปะการละครในพื้นที่เชียงใหม่ของเราบ้างครับ

อ.แววดาว ศิริสุข :

อาจจะเห็นแตกต่างนิดหน่อย เพราะว่าเราสร้างตัวตนตัวเองมาแบบไม่เคยคาดหวังว่าจะต้องได้ทุนหรือได้อะไร เราขายอย่างเดียว จริงๆ เราเป็นนักขาย แล้วเรามีลูกค้าก็คือชุมชน ผู้ประกอบการต่างๆ ต้องบอกว่าเราไม่ได้เติบโตมาด้วยหลักละครโดยตรง แต่เติบโตมาจากสายวัฒนธรรม ก็คือวัฒนธรรมล้านนา การฟ้อนรำต่างๆ พอเมื่อประมาณ 20 -30 ปีก่อน คำว่าล้านนามันเริ่มขายได้ แล้วมันขายได้ดีด้วย ทำให้เราจำเป็นต้องขายและเราก็ภูมิใจที่เราจะขายด้วย 

พิธีเปิด Money Expo พิธีเปิดกิจกรรมตรงข่วงท่าแพ ฯลฯ ทุกอย่างใช้การแสดงแบบล้านนาในการเปิด และในการปิด และระหว่างนั้น เราให้นักศึกษาเรียนรู้จากการทำงานจริงๆ ทั้งในรั้วมหาวิทยาลัยและกับชุมชน เขาออกไปข้างนอก ทำงานเขาได้เงินจริงๆ จากค่าจ้างที่เขาไปฟ้อนที่เขาไปรำ มันไม่ได้เป็นการขายอย่างเดียวแต่มันเป็นการสร้างงานให้เขา ได้เรียนรู้ว่าถ้าเขาฟ้อนแบบนี้เขาต้องใส่ซิ่นอะไร ต้องใช้เพลงอะไร เพราะตำรวจทางวัฒนธรรมมีเยอะ เขาต้องเรียนรู้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้ สุดท้ายแล้วมันก็ได้มาซึ่งเม็ดเงิน 

จริงๆ การเป็นช่างฟ้อนมันเป็นห่วงโซ่สุดท้ายของห่วงโซ่อาหารเลย เมื่อก่อนทำงานให้ ททท. เยอะ ททท. มีเงินมาก้อนหนึ่ง ออก Campaign มาว่าจะไป Promote Amazing Thailand กว่าจะมาถึงเราผ่านหลายที่มาก เงินตรงนั้นมันเป็นส่วนน้อยที่สุดที่เขาจะเจียดจะเกลี่ยมาให้จัดกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรม 

แต่เราต้องพยายามที่จะผลักดันออกไปข้างหน้า แล้วคนรุ่นใหม่มันจะต้องเห็นว่ามันขายได้ มันจะต้องเป็นเรื่องที่มันเจ๋งสำหรับเขา เขาฟ้อนรำได้ เขาสามารถที่จะสร้างรายได้จากตรงนั้น มันอาจจะไม่ใช่ทางเดียวที่เป็นการผลักดันทางด้านศิลปะการแสดง แต่มันเป็นทางหนึ่งที่ทำให้เขาสามารถมองเห็นคุณค่าในตัวเองได้

นลธวัช มะชัย :

ขอบคุณมากครับอาจารย์แววดาว 

สองคนสุดท้ายสั้นๆ นะครับ จากพี่บัวก่อน มองงานที่ตัวเองทำแล้วจะขยับออกไปยังไงบ้าง เห็นภาพที่จะเชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่ยังไงต่อไปครับ

นันท์ณิชา ศรีวุฒิ :

เรามองว่าเด็กสมัยนี้เก่ง แล้วก็โตไวและเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ ในวันพรุ่งนี้เราอาจจะแก่เกินไปแล้วก็ได้ การที่เราเป็นคนประสานงาน เป็น Producer ดูแลภาพรวมของโครงการที่จะพาเด็กได้ใช้เครื่องมือกระบวนการศิลปะสื่อสารประเด็นทางสังคมที่สนใจ เราต้องมองภาพรวมเหมือนเป็นเพื่อนกับเขาที่จะค่อยๆ เรียนรู้ไปด้วยกัน

เขามีความรู้ใหม่เราก็มีความรู้อีกชุดหนึ่งมาแลกเปลี่ยนกัน แล้วค่อยๆ ประคับประคองหรือว่าค่อยๆ ผลิตงานไปร่วมกัน ซึ่งเราไม่ได้มองว่าเป็นเหมือนพี่เลี้ยง เป็นรุ่นพี่หรืออะไรอย่างนี้ 

เรามองว่าเราเป็นเพื่อนกับคนรุ่นใหม่ อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่มันเกิดจากคนรุ่นใหม่จริงๆ แล้วเรามีความใจกว้างพอไหมที่จะเปิดโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการอยากจะพูดอะไรบางอย่าง ให้เขาได้มีพื้นที่

ดังนั้นเราเป็นคนประสานงาน ในฐานะที่มีพื้นที่จะทำให้เขาได้ไปถึงจุดหมายที่เขาต้องการ เรามีหน้าที่และมีศักยภาพพอที่จะผลักดันคนรุ่นใหม่ให้อยู่ในพื้นที่ที่ต้องการสื่อสารได้มากน้อยแค่ไหน มันเป็นโจทย์ของ Producer ผู้ประสานงานหรือคนที่ทำโครงการเกี่ยวกับงานศิลปะ

นลธวัช มะชัย :

เป็นโจทย์ที่น่าสนใจ 

ขอบคุณมากครับพี่บัว 

ถามพี่กอล์ฟปิดท้ายนะครับ เทศกาลเกิดขึ้นแล้ววันนี้ ขยับต่อยังไงดี จาก 10 ปีที่ผ่านมา มอง Act Up ต่อไปยังไงได้บ้างครับ


ธนุพล ยินดี :

คิดว่ายังไม่สามารถตอบได้ เพราะว่าสิ่งที่จะตอบมันคือกระบวนการ เป็นสิ่งที่ท้าทายที่สุดสำหรับการทำงานก้าวแรกของ  Act Up รวมไปถึงมันอาจจะเป็นที่ต้องการมากในสังคมไทยรวมถึงสังคมโลกในตอนนี้ก็คือ การฟังกัน  

ที่บอกว่าทำไมตอบไม่ได้ก็เพราะว่าต้องรอ รอวันที่เราได้เสร็จงานนี้ก่อนแล้วประชุมกัน มาสรุปกันอีกทีว่าเครือข่ายรู้สึกยังไง เห็นกันยังไง แล้วจะเอายังไงต่อไปถ้าวันหนึ่งเราต้องช่วยกันจัดการ ถ้าวันหนึ่งเรามาแชร์เป็นเครือข่ายร่วมกันจริงๆ ไม่ใช่แค่มะขามป้อม เขาควรลุกขึ้นมาทำมันเอง จะเป็นยังไง 

รู้สึกว่านี่คือความท้าทายของโครงการที่เราจะเปิดโอกาสยังไงให้เราได้ฟังกันจริงๆ แล้วเราก็จะได้ยินเสียงจริงๆ ไม่ใช่แค่ไปออกแบบกิจกรรมให้เขาทำ นี่คือความท้าทายของเรา รวมไปถึงสังคมด้วยนะ เรารู้สึกว่าสังคมทุกวันนี้ฟังกันน้อย มันเลยทำให้เกิดภาพปัญหาต่างๆ ในทุกวิกฤติ

นลธวัช มะชัย :

ขอบคุณมากครับ

เห็นภาพในการคิดฝันต่อนะครับ อาจารย์คำรณครับจะเอายังไงกับอนาคตครับ

อ.คำรณ คุณะดิลก :

พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่าให้อยู่กับปัจจุบัน ซึ่งมีผลมาจากอดีต เพราะฉะนั้นอนาคตอยู่ที่เรา พวกคุณ คนหนุ่มสาว

ผมเขียนบันทึกนี้ย้อนหลัง ขณะเก็บตัวอยู่ในบ้าน เพราะมาตรการปิดเมืองป้องกันการแพร่กระจายของโรคระบาดโควิด 19 หลังจากหมดยุคโควิด คงต้องรื้อกระบวนการกันใหม่ รื้อวิธีคิดกันใหม่หมด โจทย์ใหญ่ของมนุษยชาติ วงการละครก็หนีไม่พ้น หวังว่าเราทุกคนจะได้สนทนาคิดฝันกันต่อนะครับ

ภาพ : เพจ Act Up Chiangmai

ภาพ : เพจ Act Up Chiangmai

ผู้เขียน

นลธวัช มะชัย เกิดปี 2539 อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกเริ่มต้นการเดินทางจากเทือกเขาบรรทัด พัทลุง – นครศรีธรรมราช ดั้นด้นมาค้นหาความหมายของชีวิต โดยฝากตัวเป็นลูกศิษย์ อ.คำรณ คุณะดิลก เพื่อฝึกฝนการเขียนและทำละครอยู่ที่เชียงใหม่ในนามกลุ่มลานยิ้มการละคร หลังรัฐประหารเมื่อปี 2557 ได้ไม่กี่วัน จนกลางปี 2560 กลายเป็นผู้ต้องหาคดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 หรือที่เรียกกันว่าคดี ‘เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร’ จากการจัดกิจกรรมประชุมวิชาการนานาชาติด้านไทยศึกษา

ก่อนหันหลังให้กับการเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัยแล้วหันไปเผชิญหน้ากับความไม่รู้ของตัวเองด้วยการฝึกฝนการทำละครพร้อมกับทำงานอยู่ที่หอประวัติศาสตร์ประชาชนภาคเหนือ เฮือนครูองุ่น มาลิก (สวนอัญญา) มูลนิธิไชยวนา เชียงใหม่ ปัจจุบันออกเดินทางสำรวจตัวเองทั้งภายในและภายนอก ประกอบอาชีพเป็นนักแสดง ผู้กำกับฯ นักเขียนบท คอลัมนิสต์อิสสระ เปิดสตูดิโอชื่อ MA-MA Studio สำหรับให้คนอยากทำงานศิลปะได้มีพื้นที่ใช้ทำงาน